Sunday, May 10, 2009

ยื่นสภาชะลอถกร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกร

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดราชดำเนินเสวนาเรื่อง “สิทธิเกษตรกร สิ่งที่หายไปใน พ.ร.บ.สภาเกษตรฯ” โดยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมช.เกษตรฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์คือ เป็นเวทีให้เกษตรกรพัฒนาตนเองเพื่อการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในหมู่เกษตรกรด้วยตนเอง เราเชื่อมั่นว่าเกษตรกรในประเทศนี้ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง ทุกคนอยากเห็นเกษตรกรมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ ก้าวแรกที่อยากเห็นคือการเปิดเวทีให้เกษตรกรได้ มีโอกาสร่วมกันพิจารณาอย่างน้อยสักหนึ่งเวทีที่เกษตรกรไม่ต้องทะเลาะกัน เรื่องผลประโยชน์กลุ่มของตนเอง ไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องขององค์กรตนเอง เป็นเวทีสาธารณะที่มาคุยเรื่องนโยบาย ซึ่งเกษตรกรทุกคนสามารถร่วมได้ ตนอยากจะเห็นในเวทีของสภาแห่งนี้ทำนโยบาย เรื่องการรวมกลุ่มพูดคุยเรื่องนโยบายสาธารณะด้วยตนเอง

นายประพัฒน์ กล่าวต่อว่า มีคนไป ยื่นต่อประธานรัฐสภาว่า กฎหมายฉบับนี้ทำผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตนขออนุญาตอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (8) ซึ่งระบุถึงการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในส่วนของผลผลิตและการ ตลาด ส่งเสริมให้สินค้าการเกษตรได้รับผลประโยชน์สูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกร รวมถึงการวางแผนการเกษตรของตนเอง ดังนั้นเรื่องนี้จึงระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญชัดเจน

นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวคิดว่าด้วยสิทธิเกษตรกร ประกอบด้วยหลักสำคัญอยู่ 4 ประการคือ 1.การถือครองปัจจัยผลิตอย่างมั่นคง 2.การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะอย่างพอเพียง 3.การประกันความมั่นคงในผลตอบแทนที่ควรได้รับ และ 4.การรักษาวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ขาดไปในร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรคือ การ เข้าไปมีส่วนร่วมจัดสรรทรัพยากรหรือการรักษาวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมกลับมิได้ มีการพูดถึง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 พ.ค. เครือข่ายองค์กรภาคสังคมจะยื่นหนังสือเพื่อให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรแห่งชาติในสมัยประชุมสภาสามัญทั่วไปต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเห็นว่าร่างดังกล่าวยังขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร และไม่ได้นำความเห็นของเกษตรกรมาบรรจุลงในร่าง พ.ร.บ.อย่างจริงจัง นอกจากนั้นอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง เกษตรฯ ซึ่ง ทำให้ขาดความอิสระ ทั้งนี้การที่ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของตัวแทนเกษตรกรจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ กลุ่มผลประโยชน์เข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้จึงขอให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาออกไป.

No comments:

Post a Comment