คมชัดลึก :มติพันธมิตรตั้งพรรคใหม่ ชู "สนธิ" นั่งหัวหน้าพรรค มั่นใจปมล้มละลายไม่เป็นเหตุขัดคุณสมบัติตาม รธน. ด้าน กกต.ระบุต้องส่งตีความ "อภิสิทธิ์" ไม่กังวล พธม.ตั้งพรรคแย่งฐานเสียง ปชป. "พรทิวา" ไม่ท้อโพลล์ให้ปรับออก ลั่นสีทนได้ "ชวรัตน์" ส่งชื่อ รมช.เกษตรฯ ให้นายกฯ ขณะที่ "ชาติชาย" นัดแถลงวันนี้
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมกันจัดงาน "193 วัน รำลึก 1 ปี การชุมนุมพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย" ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่สวมใส่เสื้อสีเหลือง ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
ทั้งนี้บริเวณหน้าลานทางเข้าสนามกีฬามีการนำชุดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตร ซึ่งเป็นชุดเปื้อนเลือดที่ใส่ขณะถูกลอบยิงมาใส่กรอบ และมีข้อความเขียนว่า “การเมืองใหม่ ต้องเสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ” โดยมีประชาชนสนใจถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ในส่วนของการรักษาความปลอดภัย มีการตั้งเครื่องตรวจวัตถุโลหะทุกประตูทางเข้า อย่างไรก็ตามเวลาประมาณ 13.30 น. มีกลุ่มคนสวมเสื้อแดงประมาณ 10 คน เดินถือธงชาติ พร้อมกับตีนตบขนาดใหญ่มาอยู่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬา ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรโห่ไล่ จนต้องล่าถอยไป
ต่อมาเมื่อเวลา 15.52 น. กลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยได้ปล่อยขบวนพาเหรด และมีการถือป้ายล้อเลียน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และตามมาด้วยขบวนพาเหรดของภูมิภาคต่างๆ
ในช่วงเย็นมีกลุ่มศิลปิน อาทิ นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง น.ส.สุกัญญา มิเกล และผู้ชุมนุม ได้ร่วมกันร้องเพลง 193 วัน ทำให้มีเสียงดังกึกก้องไปทั่วบริเวณสนามกีฬา นอกจากนี้ช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. มีการแสดงแสงสีเสียง รวมทั้งมีการบรรเลงเปียโนเพลงเทียนแห่งธรรมด้วย ทั้งนี้ในช่วงค่ำฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มชุมนุมถอยหนีแต่อย่างใด
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ในฐานะประธานสภาพันธมิตร ให้สัมภาษณ์ถึงการลงมติในการชุมนุมวันนี้ว่า เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อจากเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้ประชาชนยกมือหรือปรบมือตอบรับใน 2 ประเด็นหลัก คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตร ซึ่งหากที่ประชุมมีมติอย่างไร แกนนำพร้อมจะปฏิบัติตาม และแม้ว่าจะมีพรรคหรือไม่มีพรรค กลุ่มพันธมิตรก็ จะยังทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเช่นเดิม ทั้งนี้หลังจากมติวันนี้ออกมา แกนนำจะมีการวางแผนในขั้นต่อไป ซึ่งหากมีมติให้ตั้งพรรค ก็จะมีการหยั่งเสียงประชาชนถึงชื่อพรรค และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
กระทั่งเวลา 20.00 น. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งพรรคการเมือง โดยแกนนำทั้ง 5 คน ต้องประชุมพิจารณาใน 4 เรื่อง คือ 1.โครงสร้างรูปแบบของพรรค 2.กระบวนการในการกำหนดนโยบาย ซึ่งต้องรับฟังจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม 3.สรรหาผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค โดยตำแหน่งหัวหน้าพรรคอาจจะใช้วิธีโหวตเลือกโดยตรงจากสมาชิกก็ได้ ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล อาจจะมีปัญหาขาดคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญนั้น ยอมรับว่ามีการศึกษาอยู่บ้าง แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าไม่เป็นปัญหาอะไร นายสนธิสามารถเป็นหัวหน้าพรรคได้ 4.การจัดความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับกลุ่มพันธมิตร และบทบาทของ 5 แกนนำว่าจะมีรูปแบบอย่างไร
นายสุริยะใส กล่าวว่า กระบวนการทั้งหมดจะชัดเจนอย่างช้าภายใน 3 เดือน นอกจากนี้พรรคพันธมิตรจะ นำแนวคิดที่ดีของรูปแบบพรรคต่างๆ มาศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพรรคกรีน พรรคเลเบอร์ หรือพรรคเสรีนิยม โดยจะนำจุดแข็งของแต่ละพรรคมาประมวลเข้าด้วยกัน ส่วนที่ใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของพรรคด้วยนั้น ไม่เกี่ยวกับทหาร แต่ต้องการส่งสัญญาณว่าการเมืองใหม่ต้องสะอาด ปราศจากมลพิษ และมลภาวะทางการเมือง รวมทั้งพรรคของพันธมิตรนอกจากจะสร้างการเมืองใหม่แล้ว ยังพูดถึงสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ประธานสภาพันธมิตร ได้ขอมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผู้เข้าร่วมประชุมมีมติเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยต่อการแก้รัฐธรรมนูญ โดยการลุกขึ้นยืนและตบมือโห่ร้อง
จากนั้นเป็นการขอมติพรรคตั้งพรรคการเมืองโดยการโหวตแบบลุกนั่ง เมื่อนายสมศักดิ์ขอมติไม่เห็นด้วยต่อการตั้งพรรคการเมือง กลุ่มพันธมิตรนั่งเงียบ และเมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการตั้งพรรคให้ลุกขึ้นยืน ชาวพันธมิตรก็ได้พร้อมใจลุกขึ้นยืน พร้อมกับโห่ร้องกึกก้อง ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่อง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมสภาพันธมิตรมีมติเอกฉันท์ตั้งพรรคการเมือง และขอปิดการประชุมสภา
รายงานข่าวเปิดเผยว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล มีแนวโน้มสูงที่จะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง ตามมติของเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่วิตกปัญหากรณีที่เคยถูกศาลล้มละลายกลาง พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อปี 2543 ที่ผ่านมา ที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (2) ที่ระบุว่าผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
ทั้งนี้ เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานว่า แม้นายสนธิจะเคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อปี 2543 แต่ไม่ใช่บุคคลล้มละลายทุจริต และได้เป็นบุคคลล้มละลาย ครบกำหนด 3 ปี ตามที่ศาลสั่งไปนานแล้ว
แหล่งข่าวระดับแกนนำ เปิดเผยว่า พรรคของกลุ่มพันธมิตรที่ กำลังจะก่อตั้งขึ้น ทางแกนนำไม่ต้องการให้พรรคกลายเป็นพรรคระดับใหญ่ แต่ต้องการให้พรรคเป็นพรรคขนาดเล็ก เพื่อที่จะควบคุมดูแลได้อย่างมีเอกภาพ รวมทั้งถ้าเป็นพรรคใหญ่อาจจะเกิดปัญหาในการควบคุมได้ วันนี้ถ้าเปรียบกระแสความนิยม พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยม 40% พรรคประชาธิปัตย์มีความนิยม 60% ทั้งนี้เชื่อว่าพรรคที่พันธมิตรกำลังจะก่อตั้งขึ้น จะสามารถแบ่งคะแนนความนิยมจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ถึง 30%
ชูพันธสัญญาผลักดันการเมืองใหม่
ก่อนหน้านี้เวลา 18.45 น. นายสุริยะใสเป็นตัวแทนอ่านคำประกาศพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย เดินหน้าสู่การเมืองใหม่โดยระบุว่าวันนี้ แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไป แต่เป้าหมายการเมืองใหม่ยังไม่บรรลุ ภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นับวันยิ่งมีความรุนแรงและขยายตัวมากขึ้น การชุมนุมยืดเยื้อ 193 วัน ย่อมเป็นบทพิสูจน์ถึงความกล้าหาญ ความเสียสละ และความซื่อสัตย์ต่อมาตุภูมิ พวกเราไม่มีวันลืมในความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับวีรชนของเรา และไม่ว่าเส้นทางข้างหน้าจะยากลำบากแค่ไหนก็ตาม เราขอประกาศเป็นพันธสัญญาร่วมกัน ดังนี้
1.พวกเราจะร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ของวีรชนเพื่อพิทักษ์ปกป้องระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.พวกเราจะส่งเสริมและสนับสนุนคนดีให้เข้าสู่อำนาจ และร่วมกันปกป้องขัดขวางมิให้คนไม่ดีเข้ามามีอำนาจทุกวิถีทางอย่างถึงที่สุด 3.พวกเราพร้อมแล้วที่จะเป็นความหวังและความจริงของประชาชนชาวไทย เพื่อผลักดันการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
ด้านนายจิตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะผู้บริหารเอเอสทีวี กล่าวถึงจุดยืนของเอเอสทีวี กรณีที่กลุ่มพันธมิตรตั้ง พรรคการเมืองขึ้นมาว่า เอเอสทีวีจะไม่สนใจคำกระแนะกระแหน และยืนยันว่าเอเอสทีวีจะไม่มีเป็นอีแอบ แต่จะเป็นสื่อเลือกข้าง และที่จะเลือกข้างประชาชน
"สุริยะใส" คุยเลือกตั้งกวาด 30-50 ที่นั่ง
นายสุริยะใส ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพรรคพันธมิตรว่า ภายใน 7 วัน เชื่อว่าจะได้ชื่อพรรคอย่างแน่นอน สำหรับนโยบาย โครงสร้างพรรค บุคลากร และหัวหน้าพรรค อย่างช้าภายใน 3 เดือน จะมีความชัดเจน
"ผมเชื่อว่าพรรคของพันธมิตรจะ ได้เสียงอย่างน้อย 30-50 เสียง โดยแยกเป็น ส.ส.สัดส่วน 10 เสียง และ ส.ส.เขต 40 เสียง โดยเฉพาะใน กทม.และหัวเมืองใหญ่ เชื่อว่ากระแสพันธมิตรยังแรงอยู่" นายสุริยะใส กล่าว
กกต.จี้ตีความหาก"สนธิ"นั่ง หน.พรรค
นายปกครอง สุนทรสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้พรรคที่มีการจดแจ้งจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองกับ กกต.มีทั้งสิ้น 44 พรรค ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับรองการจดแจ้งจัดตั้งพรรคอย่างสมบูรณ์แล้ว จำนวน 25 พรรค มีอีก 19 พรรค ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น การหาสมาชิกพรรคให้ครบ 5,000 คน ภายใน 1 ปี และต้องจัดให้มีสาขาพรรค 4 ภาค
เมื่อถามว่า พรรคที่คาดว่าจะเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ที่คาดว่าจะใช้ชื่อว่า พรรคเทียนแห่งธรรม และ พรรคประชาภิวัฒน์ นั้น นายปกครอง กล่าวว่า ทั้ง 2 พรรคการเมืองอยู่ระหว่างการดำเนินการหาสมาชิกพรรค และจัดตั้งสาขาพรรคให้ครบ 4 ภาค ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 26 หากพรรคใดไม่สามารถดำเนินการภายใน 1 ปี ซึ่งจะเป็นเหตุให้พรรคการเมืองดังกล่าวต้องสิ้นสภาพไป สำหรับชื่อพรรคการเมืองใหม่นั้นยังไม่มีการยื่นเข้ามา แต่อย่างไรก็ตามหากใครต้องการยื่นจดแจ้งขอจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ชื่อว่า พรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็สามารถยื่นเข้ามาได้ในขณะนี้ เพราะนายทะเบียนยังไม่ได้ตอบรับ
เมื่อถามว่า หากพันธมิตรจะ ขอซื้อชื่อพรรคการเมืองที่ กกต.รับจดแจ้งจัดตั้งพรรคไว้แล้ว เพื่อง่ายต่อการดำเนินการทางเมือง นายปกครอง กล่าวว่า ใครจะไปอยู่เป็นสมาชิกพรรคไหนก็สามารถทำได้ หากมีคุณสมบัติเข้าตามเกณฑ์ แต่การไปเป็นกรรมการบริหารพรรคก็จะมีคุณสมบัติสูงกว่าการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 102 (2) ระบุว่าต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ซึ่งหากนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตร จะมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ก็ต้องมีการตีความเนื้อหาคำพิพากษาของศาลระบุไว้อย่างไร
ชี้ปลดล้มละลายต้องลงราชกิจจาฯ
ด้านแหล่งข่าวผู้พิพากษารายหนึ่ง กล่าวว่า บุคคลใดจะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองได้หรือไม่ ก็ต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 บัญญัติไว้ ซึ่งหากกฎหมายบัญญัติห้ามบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง บุคคลนั้นก็ไม่สามารถดำเนินการใด ขณะที่การจะสิ้นสุดสภาพล้มละลายนั้น ไม่มีการกำหนดระยะเวลาว่าจะกี่ปี แต่ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2547 มาตรา 135 บัญญัติเกี่ยวกับการยกเลิกล้มละลายไว้ว่า ให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจสั่งยกเลิกล้มละลายได้ โดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งหมายถึงตัวความก็ได้ หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งปลดบุคคลล้มละลายจากการล้มละลาย ซึ่งเหตุที่จะขอยกเลิกการล้มลาย ก็ต้องเป็นไปตามที่มาตรา 135 บัญญัติไว้ใน (1) ว่า เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้เพื่อประโยชน์แก่เจ้า หนี้ (2) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย (3) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว (4) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีทรัพย์สินจะแบ่งให้แก่เจ้าหนี้แล้ว โดยเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยังมีหน้าที่ต้องโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา และในหนังสือพิมพ์รายวันอีกไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ ตามที่บัญญัติในมาตรา 138
พท.ทวงคำพูด "สนธิ" อัดตระบัดสัตย์
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคเพื่อไทยขอแสดงความยินดีกับแนวทางในการจัดตั้งพรรคตามระบอบประชาธิปไตย เพราะดีกว่าเล่นการเมืองข้างถนน เล่นเป็นอีแอบทางการเมือง แต่ขอตั้งข้อสังเกต 6 ข้อ ในการตั้งพรรคครั้งนี้ 1.พรรคของพันธมิตรจะ เป็นสาขาของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีแกนนำอย่างนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งการไปร่วมกิจกรรมในการตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้นจะขัดต่อกฎหมาย พรรคการเมืองหรือไม่ 2.แกนนำพันธมิตรตระบัด สัตย์ลวงโลกและลวงประชาชน เพราะที่ผ่านมานายสนธิ ลิ้มทองกุล เคยพูดไว้ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ภาคพิเศษ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า “ถ้าผมลงสมัครรับเลือกตั้งหรือรับตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้าผู้ชายเจอหน้าผม ขอให้ถุยน้ำลายรดหน้า ถ้าผู้หญิงเจอ ให้ถอดรองเท้าขว้างผมได้”
นอกจากนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย และนายสุริยะใส กตะศิลา ที่เคยชุมนุมขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่วันนี้แกนนำพันธมิตรกลับตระบัดสัตย์ลงเล่นการเมือง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง
3.แกนนำพันธมิตรมี หลายคดีอาญาติดตัว ทั้งคดีบุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที คดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล คดีการยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะนายสนธิยังมีคดีอาญาที่ตัดสินแล้วและอยู่ในขั้นอุทธรณ์อีก 3 คดี 4.เมื่อพันธมิตรตั้ง พรรคการเมืองแล้ว เงินที่รับบริจาคของประชาชนที่ให้เอเอสทีวี เป็นเงินหลายร้อยล้านบาท จะเสียภาษีให้รัฐบาลหรือไม่ 5.เอเอสทีวี-หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่เป็นสื่อและกระบอกเสียงให้พันธมิตร นายสนธิเป็นผู้ดูแล เมื่อตั้งพรรคการเมืองแล้ว การครอบครองสื่อหรือเป็นนอมินี จะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 48 หรือไม่ และ 6.เมื่อตั้งพรรคการเมือง อยากฝากถามแกนนำทั้ง 5 คน จะใช้นโยบายยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดเอ็นบีทีและยึดสนามบินดอนเมือง ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อแลกตำแหน่งอีกหรือไม่
ปูดอดีตบิ๊ก คมช.เตรียมตั้งพรรคใหม่
นายพร้อมพงศ์กล่าวอีกว่า นอกจากการตั้งพรรคของพันธมิตร ยังมีอีกหลายพรรค ทราบว่าอดีตนายทหารจาก คมช.เตรียมจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เหมือนกัน เราคิดว่าพันธมิตรเป็นคู่แข่งกับทุกพรรค แต่น่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า คงต้องไปจับตาดูว่าจะมีการฮั้วกันหรือไม่
"อภิสิทธิ์" ไม่วิตก พธม.ตั้งพรรคใหม่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยตั้งพรรคการเมืองว่า ไม่มีความกังวล การแข่งขันถือเป็นเรื่องปกติ และเราก็มีหน้าที่นำเสนอในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับประชาชน แต่ความเห็นอื่นก็เป็นความเห็นที่หลากหลายก็แข่งขันกันไป
ต่อข้อถามว่ากังวลหรือไม่เพราะฐานเสียงของกลุ่มพันธมิตรและ พรรคประชาธิปัตย์เป็นคนกลุ่มเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะคิดว่าเรื่องของการเมืองเป็นเรื่องในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีการ แข่งขัน เราก็มีหน้าที่ที่จะแข่งขันให้ดีที่สุด และยิ่งมีคู่แข่งเพิ่มเท่าไหร่ เราก็ยิ่งต้องมีความตื่นตัวในการที่จะสนองตอบต่อประชาชนมากเท่านั้นก็เป็น เรื่องที่ดี
ส่วนที่อาจส่งผลต่อบุคลากรของพรรคประชาธิปัตย์อาจจะย้ายพรรคไปสังกัด นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้คิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมิน ความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเห็นใกล้ๆ เลือกตั้งมากกว่า
ปัดต่อรอง"เฉลิมชัย"นั่ง รมต.สมัยหน้า
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้จะมีการสัมมนาพรรคแล้ว แต่ยังมีเสียงสะท้อนความไม่พอใจของกลุ่ม ส.ส.ออกมาอีก โดยนายอภิสิทธิ์ย้อนถามว่ากลุ่มไหน และปฏิเสธว่าไม่น่าจะมีเรื่องนี้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างเปิดกว้าง สามารถที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้
เมื่อถามว่าข่าวที่ออกมาเป็นไปในลักษณะว่ามีการให้สัญญากันไว้ ถ้ามีการปรับ ครม.ครั้งหน้าจะให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เข้ามารับตำแหน่ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าเรื่องที่จะมาบอกว่ามีการเคลื่อนไหวและต่อรองเพื่อนำไปสู่ เหล่านั้นคงไม่ได้
เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันใช่หรือไม่ว่าไม่ได้มีคำสัญญากับนายเฉลิมชัย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “เรื่องการต่อรองไม่มี และอยากจะขอร้องกับทุกคนที่ออกมาให้ข่าว ต้องระมัดระวัง ความจริงปัญหาในเรื่องแบบนี้ ผมก็ย้ำไปแล้วครั้งหนึ่งว่า ไม่ได้ช่วยในเรื่องการทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเมืองโดยรวม”
"สุเทพ"ไม่กังวล ปชป.มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เเละเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มพันธมิตรจะ ตั้งพรรคการเมือง ว่า ยินดีและขอต้อนรับพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นและจะได้มีผู้นำที่สามารถนำข้อเสนอ ใหม่ๆ ทางการเมืองมาเสนอต่อประชาชนอย่างเป็นระบบ ถ้าพันธมิตรตั้งพรรคการเมืองแล้วก็คงไม่ใช้มวลชนนอกสภามาเป็นเครื่องมือ
ต่อข้อถามที่ว่า ฐานเสียงของพรรคพันธมิตรฯ อาจจะเป็นฐานเสียงเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ กล่าวว่า การตั้งพรรคการเมืองในประเทศไทยจะต้องแข่งขันกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา พรรคประชาธิปัตย์ตั้งมา 60 ปี ก็มีคู่แข่งทุกๆ ปี
นายสุเทพกล่าวกรณีที่นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี กลุ่มนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ระบุถึงการปรับ ครม.ว่าหากมีการปรับ ครม.ครั้งต่อไปนายเฉลิมชัยควรได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่า เป็นเรื่องปกติที่สามารถจองเอาไว้ก่อนได้ ส่วนจะได้เป็นหรือไม่ก็ต้องเป็นไปตามกลไกของพรรคที่จะคัดเลือก และได้พูดคุยกับนายเฉลิมชัยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งยืนยันไปแล้วว่าไม่มีปัญหา
ปชป.คลอดปฏิญญาเกาะสมุย 5 ข้อ
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสรุปผลการประชุมสัมมนา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ที่ประชุม ส.ส.และรัฐมนตรีของพรรคสรุปปัญหาเร่งด่วน ซึ่งเป็นวาระประชาชนที่จำเป็นต้องแก้ไขคือ 1.การเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน 2.การเร่งแก้ไขปัญหาความยากจน 3.การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม 4.โครงสร้างของความเป็นธรรม ที่ต้องเร่งพิจารณาถึงการถือครองที่ดิน รวมถึงมาตรการการจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสุงสูดและ เป็นธรรม การจัดสร้างและกระจายแหล่งน้ำไปสู่พื้นที่ที่ขาดแคลนอย่างทั่วถึง การเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเป็นธรรม และ 5.แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งเกิดจากรายได้ที่ลดลงทั่วทั้งประเทศ
ชวรัตน์ยันส่งชื่อรมช.ให้นายกฯอังคารนี้
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กล่าวยืนยันว่า วันอังคารที่ 26 พฤษภาคมนี้ จะส่งชื่อ รมช.เกษตรและสหกรณ์คนใหม่ แทนนายชาติชาย พุคยาภรณ์ ให้แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นบุคคลใด ขณะนี้ยังไม่ได้คุยหารือกับนายกฯ ส่วนนายชาติชายจะแถลงข่าวนั้น ยืนยันว่าไม่มีการกดดันไม่ให้แถลงข่าว โดยจะให้แถลงอย่างอิสระ และไม่ทราบเหมือนกันว่านายชาติชายจะแถลงว่าอย่างไร
ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการปรับ ครม.ในกระทรวงอื่น อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ที่ควรปรับเปลี่ยนนั้น นายชวรัตน์ กล่าวว่า ผลสำรวจถือเป็นกระจกเงาให้รู้ข้อบกพร่อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข และคงไม่สามารถตอบได้ในการปรับ ครม.ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะปรับตำแหน่งของตนหรือไม่
เมื่อถามว่า มีกระแสว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย นายชวรัตน์กล่าวยอมรับว่า มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนมาคุยมากินข้าวด้วยกัน ซึ่งไม่มีอะไรเป็นเรื่องลึกลับ แค่มาเยี่ยมเยียนกัน สื่อก็เขียนไปแล้วว่า มีการคุยกัน ต่อไปนี้คงจะกินข้าวไม่ได้ เยี่ยมเยียนก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากจะมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทยกี่คน ตนคงไม่สามารถระบุจำนวนได้ ส่วนจะมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมาอยู่ด้วยหรือไม่นั้น ไม่ขอตอบในเวลานี้
"พรทิวา"ไม่ท้อ ลั่น "สีทนได้"
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงผลโพลล์ที่เห็นว่าเป็นรัฐมนตรีที่ควรถูกปรับออกจาก ครม.เป็นอันดับ 1 ว่า ไม่ท้อ หากมองแง่ดีจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลดี หากเรามองเชิงบวกก็มีความสุข เราจะทำงานหนักขึ้นเพื่อให้สังคมยอมรับ ทั้งนี้ คงเป็นเพราะทำงานมากมีข่าวเยอะ ทำให้เป็นที่สนใจ และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีพูดชัดเจนว่าจะปรับเพียง 1 ตำแหน่งจากพรรคภูมิใจไทย คือ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส่วนตำแหน่งอื่นไม่มีอะไร
เมื่อถามว่า รู้สึกหนักใจและน้อยใจหรือไม่ที่ถูกกระแสให้ปรับพ้นตำแหน่ง นางพรทิวากล่าวว่า “ไม่มี สีทนได้...เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีน้อยใจนิดหน่อย แต่เมื่อได้รับผิดชอบและมอบหมายให้มาทำงานตรงนี้ เราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล”
"ชาติชาย"บอกให้รอฟังจะอยู่หรือไป
นายชาติชาย พุคยาภรณ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีพรรคภูมิใจไทยมีมติจะปรับออกจากตำแหน่งว่า ได้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายกฯ กล่าวให้กำลังใจ ส่วนตนก็บอกข้อมูลและรายละเอียดในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจไปแล้ว ซึ่งจะขอเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดที่กระทรวงในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00 น. ซึ่งการทำงานเพื่อบ้านเมืองนั้น อยู่ตรงไหนก็สามารถทำเพื่อบ้านเมืองได้
ส่วนจะตัดสินใจย้ายพรรคหรือไม่ นายชาติชายกล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า "ผมไม่ใช่นักการเมือง ขอให้รอฟังในวันอังคารนี้ว่าผมจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป หรือจะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเอง"
ตร.ออกปฏิทินสืบจับ "เหลือง-แดง"
พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แถลงข่าวประกาศสืบจับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ (เสื้อเหลือง) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยฯ (เสื้อแดง) ที่กระทำความผิดถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ผ่านมารวม 49 คนตามหมายจับ เป็นการตีพิมพ์จำนวน 500 แผ่น แจกจ่ายไปตาม สน.ต่างๆ ใน กทม. เช่นเดียวกับการจัดทำปฏิทินโจรของกองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่เป็น " ประกาศสืบจับผู้ชุมนุมกลุ่มเหลือง-แดง"
ผบช.น. กล่าวต่อว่า ประกาศสืบจับแบ่งเป็น 2 แผ่น คือ ประกาศสืบจับสีเหลือง และประกาศสืบจับสีแดง เป็นประกาศสืบจับบุคคลที่ไม่ทราบชื่อจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ผ่าน มา ซึ่งแต่ละคนละมีรางวัลนำจับ รายละ 5 หมื่นบาท แบ่งเป็นประกาศสืบจับสีเหลือง เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ จำนวน 20 ราย ประกาศสืบจับสีแดง จำนวน 29 ราย ซึ่งสามารถจับกุมได้แล้วจำนวน 2 ราย โดยจะมอบเงินรางวัลให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสจนสามารถนำไปสู่การจับกุมบุคคลตามภาพ กรณีประกาศสืบจับสีแดงแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์สืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทร.0-2345-3399 กองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 6 โทร.0-2223-4443 หรือฝ่ายสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ โทร 0-2226-2099 สำหรับประกาศสืบจับสีแดง ส่วนประกาศสืบจับสีเหลือง แจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์สืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทร.0-2345-3399 กองกำกับการสืบสวนนครบาล 2 โทร.0-2585-5335 หรือฝ่ายสืบสวน สน.บางซื่อ โทร.0-2271-3456
Monday, May 25, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment