Monday, May 11, 2009

'พงษ์เทพ'หนุนแก้รธน.-นิรโทษอย่างเสมอภาค!

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนฯ ที่ภูเก็ต รอผู้นำตอบกลับ นายกฯอภิสิทธิ์ คาดไม่เลื่อนประชุมแน่ 13-14 มิ.ย.นี้ ที่ประชุม ครม.เตรียมพิจารณา พรบ.กอ.รมน.คาดประกาศใช้ล่วงหน้าก่อนการประชุม ไม่หวั่นเสื้อแดงจะบุกมาป่วน “บุญจง” ขู่ผวจ.ภูเก็ต-คนภูเก็ตเตรียมแสดงพลังรักประเทศ คกก. สมาน ฉันท์ เตรียมตั้ง 3 อนุกรรมการฯ หาข้อเท็จจริง เล็งคนเก่งในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง “ปธ.ชัย” คาด เวลาทำงานไม่พอจ้องขยายเวลาออกไป “ภูมิใจไทย” ย้ำเดิมแก้รธน.ต้องทำประชามติ ไม่หนุนบทนิรโทษกรรม กลุ่มเพื่อนเนวิน แจง เนวิน ชอบทำงานฉากหลังไม่หวังนิรโทษกรรม นปช. เตรียมเปิดดีสเตชั่นใหม่ 18 พ.ค.นี้ “เสนาะ” ออกโรงอัดสื่อไม่เป็นกลาง แนะ คกก.สมานฉันท์ต้องปรองดองกันเองก่อน ชี้ทำอะไรก็ได้ให้ประเทศอยู่รอด “พงศ์เทพ” หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ให้นิรโทษกรรมทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค “จาตุรนต์” เปิดตัวหนังสือการเมือง เชื่อ รธน.ต้องแก้ไขอัดพันธมิตรฯ เป็นภัยต่อ ปท. ชี้ รัฐต้องคุมกำลังทหารให้อยู่ จำกัดสิทธิองคมนตรี

เสนอตั้ง3อนุกรรมการฯสมานฉันท์

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รัฐธรรมนูญกล่าวถึงกรอบการประชุมคณะกรรมการฯนัดที่ 2 ในวันที่ 12 พ.ค.ว่า คณะกรรมการฯ จะหารือเรื่องการตั้งอนุกรรมการ 3 คณะ เพื่อพิจารณาตามกรอบอำนาจหน้าที่ โดยจะเป็นคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการสมานฉันท์ คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปการเมือง และคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีกรอบการศึกษาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการยังมีเวลาเหลืออีก 15 วัน ก็จะใช้เวลาช่วงนั้นพิจารณาในส่วนที่ยังขาด

ทั้งนี้ตนยังไม่ได้พิจารณาว่าใครจะเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เพราะต้องขึ้นกับที่ประชุม แต่ในการประชุมตนจะเสนอให้มีคนนอกเข้ามีส่วนร่วมด้วย 6 คน ต่อหนึ่งคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะเป็นภาคประชาชนระดับรากหญ้า ตัวแทนจากสภาพัฒนาการเมือง และตัวแทนสื่อมวลชนอาวุโส ทั้งนี้จะมีตัวแทนกลุ่มใดเข้ามามีส่วนร่วมก็ต้องขึ้นกับที่ประชุม หากบังเอิญเลือกตัวแทน ตรงกับสีเสื้อไหนก็ขอให้มีตัวแทนที่สมดุลกันด้วย

สรุปเสนอรัฐ-พอใจผลประชุม

เมื่อถามว่าเมื่อคณะกรรมการฯได้ข้อสรุปเสนอให้รัฐบาลแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อสรุปหรือไม่ นายดิเรก กล่าวว่า คณะกรรมการฯจะเสนอวิธีปฏิบัติ วิธีแก้ปัญหาไป ส่วนรัฐบาลจะปฏิบัติตามหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ต่อข้อถามว่าหลังจากประชุมนัดแรกไปแล้วประเมินว่าการทำงานของคณะกรรมการฯจะ ถึงฝั่งหรือไม่ นายดิเรก กล่าวว่า ดูบรรยากาศการประชุมนัดแรกแล้วน่าพอใจ หากมีการตั้ง 3 คณะอนุกรรมการฯดังกล่าวไปแล้วก็จะถือว่าได้มีการพิจารณาประเด็นปัญหาได้ อย่างครบถ้วน

ชัยเชื่อขยายกรอบเวลาทำงาน

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯว่า ส่วนตัวหวังว่าภายใน 45 วัน จะเห็นความชัดเจนในการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง เสริมสร้างความสมานฉันท์ แต่ยอมรับว่าระยะเวลาดังกล่าวคงไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งผลที่ออกมาอาจได้ข้อสรุปเพียงแนวทางในการปฏิรูปหรือตั้งอนุกรรมการให้ ศึกษาปัญหาต่อ ดังนั้นกรอบเวลา 45 วัน ที่ได้กำหนดไว้สามารถขยายเวลาได้

นายกฯไม่กังวลเสื้อแดงชุมนุม

ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศว่าอาจจะกลับไปชุมนุมที่หน้า ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ว่า ยังไม่ทราบ เพราะอาจเป็นการพูดเพื่อดูทางเลือกต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ตนก็ไม่ได้ฟังข้อมูลต่าง ๆ ที่แกนนำของกลุ่มดังกล่าวใช้กล่าวอ้างบนเวทีนั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯจะเชิญตนไปให้ข้อมูลเรื่องการสลายการ ชุมนุม ตนก็พร้อมให้ความร่วมมือเพราะเป็น คนสั่งเอง

เมื่อถามว่าแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงมีการนำวีซีดีมาฉายเพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีการจัดฉากเหตุการณ์ที่กระทรวงมหาดไทย กังวลหรือไม่ว่าจะทำให้ประชาชนสับสน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะความจริงก็คือความจริง และเราจะรวบรวมทุกสิ่งที่ยืนยันความจริงทั้งหลายมาให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และตรวจสอบได้ ทั้งนี้คณะกรรมการที่เข้ามาก็มีทุกฝ่ายในทางการเมืองและในรัฐสภา

ย้ำนายกฯ-สุเทพอยู่ในรถถูกทุบ

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการที่นปช.โจมตีว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่บนรถที่ถูกทุบในกระทรวงมหาดไทย ขอยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้เปลี่ยนรถได้ภายใน 1 นาที เพราะไม่ใช่นักมายากล ทั้งนี้รถกันกระสุนยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ สีน้ำเงินอมดำ มีอยู่ในประเทศไทย 3 คันคือ ทะเบียน ษห 3834 กรุงเทพมหานคร ให้ผู้นำ จากประเทศจีนนำไปใช้ซึ่งขณะนี้ซ่อมอยู่ ส่วนทะเบียน ษห 3835 กรุงเทพมหานคร ที่นายกรัฐมนตรีใช้ในวันที่ถูกผู้ชุมนุมทุบที่กระทรวงมหาดไทย และทะเบียน ชพ 1420 กรุงเทพมหานคร เป็นคันที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยรถ 3 คันนี้ถูกจัดซื้อในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นรัฐบาล

นายเทพไท กล่าวว่า การที่กลุ่มแกนนำเสื้อแดงมีพฤติกรรมในลักษณะนี้เป็นการเปิดประเด็นที่ผิด พลาด ซึ่งตนอยากแนะนำแกนนำหลังจากเสร็จภารกิจนี้แล้วควรจะไปประกอบอาชีพ 4 อย่างคือ 1.ฟาร์มเลี้ยงแกะ 2.โรงน้ำแข็ง 3.หัวหน้าคณะตลก และ4.นักมายากล ทั้งนี้ตนเห็นว่าการที่แกนนำ นปช.หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดมีเหตุผล 3 ข้อคือ 1.เพื่อต้องการนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวต่อ 2.ปัดความรับผิดชอบ และ3.ป้ายสีความรุนแรงว่าเกิดจากอำนาจรัฐ และทหาร ตนอยากให้การชุมนุมดังกล่าวยุติ และอยากให้นำข้อมูลต่าง ๆ ไปให้คณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่สภาตั้งขึ้น ได้ตรวจสอบต่อไป

ตั้งอนุกรรมการฯเน้นคนเก่ง

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ กล่าวว่า หลังจากที่มีข้อสรุปว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด จากนี้ไปจะเป็นการเดินหน้าทาบทามผู้ที่เกี่ยวข้องมาเป็นอนุกรรมการ ทั้งที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวน ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ด้านกฎหมาย และด้านอื่น ๆ โดยคณะกรรมการชุดที่คาดว่างานจะหนักที่สุด คือ คณะอนุกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ โดยประธานอนุกรรมการแต่ละชุด ได้ตกลงกันว่าจะให้อำนาจกับนายสมศักดิ์ บุญทอง ประธานคณะกรรมการฯเป็นผู้แต่งตั้ง เบื้องต้นวางกรอบการทำงานไว้ 30 วัน

ภท.แก้รธน.ต้องทำประชามติ

ที่พรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรคว่า ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นพรรคคงยืนในจุดยืนเดิมคือต้องทำประชามติ ทั้งนี้พรรคไม่มีการพูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรม แต่ถ้าหากจะมีการแก้ประเด็นนี้ก็ต้องมีการทำประชามติเช่นเดียวกัน

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคว่า พรรคสนับสนุนที่จะแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค จะให้ลงโทษเฉพาะผู้กระทำผิดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เหมารวมทั้งหมดอย่างที่ ผ่านมา แต่ก็ยังสามารถยุบพรรคการเมืองได้เช่นเดิม แต่ย้ำว่าต้องไม่เหมารวมคณะกรรมการบริหารพรรคที่ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการกระ ทำเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าการแก้รัฐธรรม นูญจะต้องทำประชามติ หรือประชาพิจารณ์ ก่อนที่จะแก้ไข ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมยังมีความเห็นเช่นเดิมว่าพรรคไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการ ออกกฎหมายเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวถึงท่าทีของพรรคที่ไม่สนับสนุนนิรโทษกรรมว่า นายเนวิน ชิดชอบ ได้บอกว่าอยากทำงานอยู่เบื้องหลังเพราะสามารถทำงานได้มากกว่าอยู่ฉากหน้า เสียอีก

เสื้อแดงเปิดดีสเตชั่นช่องใหม่

นายอดิศร เพียงเกษ ประธานกรรมการสถานีโทรทัศน์ ดีสเตชั่น กล่าวถึงการเปิดสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่แทนดีสเตชั่นที่ถูกปิดไป ว่า ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ จะเปิดสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่แทนสถานีโทรทัศน์ดีสเตชั่นเดิม เพื่อเป็นตัวเลือกให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจจะใช้ชื่อว่า “นิวส์ ดีสเตชั่น” หรือ “ดีสเตชั่น 2” โดยยังคงรูปแบบรายการและเนื้อหาแบบเดิม ซึ่งการดำเนินการเปิดสถานีโทรทัศน์ครั้งนี้จะใช้ช่องทางเดียวกับเอเอสทีวี ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการผลิต หรือการส่งสัญญาณจากดาวเทียมต่างประเทศ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอเรื่องนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรค ที่ถูกยุบนั้นตนไม่เห็นด้วย

บุญจงอัดนปช.กล่าวหารัฐแกล้ง

นายบุญจง กล่าวประเมินการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงว่า เป็นการแสดงสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย หากไม่ทำผิดกฎหมายก็สามารถกระทำได้ รวมถึงการประกาศว่าอาจจะเคลื่อนไปชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้ด้วย แต่อยากเตือนสติผู้ที่จะเข้าร่วมว่าขณะนี้ประเทศชาติเสียหายมามากแล้ว เมื่อถามว่า นาย วีระ มุสิกพงศ์ แกนนำคนเสื้อแดงระบุว่า สาเหตุที่มีฝนตกหนักลงมาเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นเพราะรัฐบาลทำฝนเทียม นายบุญจง กล่าวว่า จิตวิปริต จิตเสื่อม ฟ้าร้องฟ้าผ่าคนตายใครจะทำได้

เสนาะอัดสื่อมวลชนไม่เป็นกลาง

ที่สนามกอล์ฟอัลไพน์ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ตนไม่อยากคุยเรื่องการเมือง เพราะมันจะไม่มีบ้านเมืองให้เล่นการเมืองกันแล้ว จะเล่นอะไรก็แล้วแต่ แม้กระทั่งสื่อมวลชน เวลาจะทำอะไรก็ให้คิดถึงบ้านเมือง หลักการ คุณธรรมและความจริง เพื่อให้คนในชาติได้เข้าไปอยู่ในทิศทางที่ถูกที่ควร ใครพูดอะไรแล้วไปเป็นข่าวขยายความกันไปในทางเสื่อมเสียมันก็ไม่ดี ก็ไม่อยากจะพูดอะไรแล้ว เพียงแค่จะชี้ให้เห็นว่าที่มาของความขัดแย้งนั้นมาจากไหน แต่พอจะพูดความจริงก็หาว่าเราเอียงนั้นเอียงนี่ก็เลยไม่รู้จะว่าอย่างไร

คกก.สมานฉันท์ต้องปรองดอง

เมื่อถามถึงกรณีการนิรโทษกรรมให้นักการเมืองที่ถูกยุบพรรค นายเสนาะ กล่าวว่า ที่ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ต้องมาคุยกัน ไม่ใช่เอาชนะคะคานกัน เพราะถ้าคณะกรรมการฯยังปรองดองกันไม่ได้แล้วจะมาปรองดองกันทำไม เมื่อถามว่ามองว่าการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯจะทำงานสำเร็จหรือไม่ นายเสนาะ กล่าวว่า ต้องหันหน้ามาคุยกันถ้าส่งคนเข้ามาแล้วมีปัญหาก็ไม่ต้องส่งเข้ามา เพราะชื่อคณะกรรมการก็ บอกอยู่แล้วว่าให้ปรองดอง ซึ่งต้องผ่อนหนักผ่อนเบา ต้องปรองดองเพื่อยุติการสร้างความแตกแยกให้กับประชาชน เพราะถือว่าเป็นจุดอ่อนของประเทศ

ชี้ไม่ตัดสินคดีใหญ่-เล่นงานคดีเล็ก

เมื่อถามว่าฝ่ายหนึ่งบอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย นายเสนาะ กล่าวว่า ต้องอย่าไปยึดติดกับคน ๆเดียว จะเอากันไปถึงไหน เหมือนกับเวลาจับหนูได้เราก็ไม่รู้จะทำอะไร แต่กลับไปทำเรื่องไร้สาระ ซึ่งผมก็พูดในที่ประชุมกรรมการฯ ว่าไปกล่าวหาเขาเรื่องใหญ่เรื่องโต ไปยึดทรัพย์เขาก็แปดหมื่นล้าน แสนล้าน แต่ไม่เห็นตัดสินอะไร กลับมา ตัดสินเรื่องเมียเขาซื้อที่ เมียรอดแต่ผัวกลับติดคุก อันนี้พูดตรง ๆ เรื่องใหญ่ ๆ กลับไม่ไปตัดสินเขา ถ้าจะกล่าวหาเขาก็บอกว่าเฮ้ย นายกฯใช้อิทธิพลมาซื้อที่ซื้อทางไม่ได้ ที่ก็ต้องไม่ได้ไป ซื้อโดยไม่ชอบ ที่ผมพูดไม่ได้ไปพูดเข้าข้างพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ชาวบ้านเขางง ไปกล่าวหาเขาไว้เยอะ ชาวบ้านก็คิดว่าไปกลั่นแกล้ง เพราะคนที่รักเขาก็มีเยอะ

แนะทำอะไรก็ได้ให้ปท.รอด

“หากกรรมการฯที่มาจากต่างพรรคไม่อะลุ้มอล่วย ยังเถียงกันเรื่องสีนั้นสีนี้ จนมีส่วนทำให้บ้านเมืองบรรลัยวายวอด รู้สำนึกกันบ้างไหม ถ้ารู้สำนึกก็บอกว่าต่อไปนี้จะไม่ทำกันแล้วไม่ใช่อะไรก็ไม่ได้ ไม่ยอมรับผลการกระทำของตัวเองก็พัง” นายเสนาะ กล่าว และเมื่อถามว่า มาตรา 237 ที่ระบุถึงการยุบพรรคและการนิรโทษกรรม มีข้อถกเถียงในสังคมมากมาย ควรมีการทำประชามติ หรือไม่ นายเสนาะ กล่าวว่า จะทำอย่างไรก็ได้ ขอให้บ้านเมืองอยู่รอด ถามว่าคนที่โดนโทษ 111 และ 109 ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ก็ต้องหาทางออก ส่วนรัฐบาลจะจริงใจในการดำเนินการหรือไม่นั้น ตนไม่อยากให้ไปพูดอย่างนั้น แต่อะไรที่จะคลี่คลายก็ต้องทำ

พงศ์เทพหนุนแก้รัฐธรรมนูญ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนลงแข่งขันกอล์ฟรายการสังสรรค์สามัคคี 111+37= เพื่อไทยว่า การจัดงานวันนี้เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างคนที่เคยร่วมทำงานกัน ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีการหารือเรื่องการเมือง เมื่อถามว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์และปฏิรูปการเมือง โดยตอนนี้บางฝ่ายเสนอให้นิรโทษกรรมและแก้รัฐธรรมนูญ ท่ามกลางเสียงคัดค้าน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ตนพูดหลายครั้งแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดปัญหา และจำเป็นต้องแก้ไข รัฐบาลต้องวางหมากให้มีเหตุผล หากจะนิรโทษกรรม เพียงเพื่อให้อดีตนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และอีก 109 คนนั้น ไม่มีประโยชน์เพราะคนที่รับผลกระทบนั้นเป็นส่วนน้อย แต่การนิรโทษกรรมควรกระทำให้คนส่วนมากในสังคมเกิดความสงบสุข

นิรโทษกรรมทุกฝ่ายเสมอกัน

เมื่อถามว่านิรโทษกรรมให้คนส่วนมาก หมายความว่าอย่างไร นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนในสังคมมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างและเกิดการชุมนุมรวมตัว กัน และคนจำนวนมากก็โดนกล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย และโดนตั้งข้อหาในคดีอาญา เช่น การยึดสนามบิน หรือยึดทำเนียบรัฐบาล ฉะนั้นสังคมควรกลับมาเริ่มต้นกันใหม่เพราะประเทศเกิดการติดขัด ซึ่งอาจจะรวมทุกฝ่ายและคดีอาญาด้วย ส่วนที่ว่า การนิรโทษกรรมจะรวมคดีที่ดินรัชดาภิเษกของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯด้วยหรือไม่นั้น สังคมไทยคงดูได้ว่า กระบวนการยุติธรรมหลังการยึดอำนาจแตกต่างกับกระบวนการยุติธรรมในช่วงปกติ อย่างไร และควรจัดการเช่นใด เรื่องนี้ตนไม่ได้คุยกับอดีตนายกฯเพราะกำลังยุ่งกับการเตรียมชี้แจงคดีหวยบน ดิน

จาตุรนต์เปิดตัวหนังสือการเมือง

ที่โรงแรมอิมพีเรียลธารา ซอยสุขุมวิท 26 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เปิดตัวหนังสือความจริงวิกฤตประชาธิปไตย 27 ประเด็นที่สังคมไทยต้องการคำตอบ จัดพิมพ์โดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชา ธิปไตย โดยมีนักการเมือง อดีตนักการเมืองและอดีตคนเดือนตุลาฯเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยนายจาตุรนต์ กล่าวว่า การทำหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในความตั้งใจที่คิดว่าจะทำหลังช่วงรัฐประหาร ซึ่งเรื่องการเมืองถือเป็นเรื่องที่น่าสับสน ยิ่งนานวันยิ่งเกิดวิกฤติ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ตนใช้เวลารวบ รวม 4-5 เดือน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้สังคมได้รับมุมมองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งมุม

ตั้งคกก.สมานฉันท์ปูทางแก้รธน.

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้ไข ไม่แก้ไม่ได้ แต่จะแก้ได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง ส่วนการที่รัฐสภาตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้น ดูเหมือนจะเป็นความคืบหน้าเพราะมีการรวบรวมประเด็นที่จะแก้ไขในแต่ละพรรค แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะต้องขึ้นมาคัดค้านแน่ ๆ ดังนั้นจะหวังให้การแก้ไขเกิดขึ้นง่าย ๆ ไม่ได้ ถ้าสังคมไทยยังสนใจก้าวไปถึงประชาธิปไตย เป็นอารยประเทศ ก็ต้องหยุดระบอบตุลาการภิวัฒน์ เพราะยิ่งทำก็จะยิ่งวิกฤติทำให้คนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม และตั้งคำถามว่าจะเชื่อถือระบบตุลาการได้หรือไม่ จะต้องทำให้ตุลาการภิวัฒน์เปลี่ยนไประบบตุลาการที่เป็นจริงให้ความเป็นธรรม กับประชาชนได้

อัดพันธมิตรฯเป็นภัยต่อปท.

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าในอนาคตกลุ่มพันธมิตรฯจะเป็นภัยต่อมั่นคง อันดับหนึ่งของประเทศ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้าดูจากบทบาทของพันธมิตรฯ จะก้าวไปสู่หายนะ เพราะพันธมิตรฯ คือกองกำลังที่พร้อมจะติดอาวุธด้วย ใช้ความรุนแรงได้ระดับหนึ่ง และมีไว้สำหรับคุกคามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจากนี้ไปใครจะมาเป็นรัฐบาลได้ ต้องเป็นพวกเดียวกับกลุ่ม พันธมิตรฯ และกองทัพ นอกจากนี้สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดคือการเสนอการเมืองใหม่ ที่เป็นการลดบทบาทพรรคการเมือง และทำให้ระบบการเลือกตั้งไม่สนองตอบต่อประชาชน

เมื่อถามว่าองคมนตรีในระบอบประชา ธิปไตย จะต้องไม่มียุ่งเกี่ยวกับการเมือง ดังนั้นประชาชนจะทำอย่างไรเพื่อคานอำนาจกับองคมนตรี หากองคมนตรีมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เรื่ององคมนตรีระหว่างบุคคลกับคณะองคมนตรี เป็นคนละส่วนกัน รัฐธรรมนูญได้ระบุคุณสมบัติขององคมนตรีที่เป็นข้อห้ามว่าไม่ต้องฝักใฝ่ พรรคการเมืองใด

หยุดดิสเครดิตสร้างเรื่องป้ายสี

นายจาตุรนต์ กล่าวถึงการเปิดตัวหนังสือว่า ความจริงแล้วตนไม่ได้อยู่ในจุดแกนนำกลุ่มดังกล่าว แต่ได้บอกไปว่าการเคลื่อนไหวจากนี้ไป ใครทำอะไรได้แค่ไหนในกรอบของประชาธิปไตยก็ทำไป แต่ก็เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่รักประชาธิปไตยยังต้องการสู้ต่อไป ส่วนตัวคิดว่าบทบาทของกองทัพในสถานการณ์ขณะนี้ แม้จะมีอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวในบางพื้นที่ แต่ไม่ถึงกับเข้ามาล้างสมองเพราะถ้าทำเช่นนั้นกองทัพจะเสียหายเอง อย่างไรก็ตามในระยะยาวประเทศไทยจะต้องทำให้กองทัพอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ของรัฐบาลพลเรือนให้ได้

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ประเด็นใหญ่ทางการเมืองที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคือการก้าวผ่านวิกฤติทางการ เมืองโดยรัฐบาล ควรหยุดดิสเครดิตฝ่ายตรงกันข้าง หรือปั้นเรื่องเพื่อใส่ร้ายเช่นการล้มสถาบัน ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลนำข้อเสนอของตนเรื่องการเลือกส.ส.ร.โดยไม่ให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นจัดให้ทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะทำให้ปัญหาคลี่คลายลง ส่วนเรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์ฯนั้น ตนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่น่าเสียดายที่นายกฯและพรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีที่อ่อนลงต่อการแก้ไข รัฐธรรมนูญ

รอผู้นำตปท.ตอบรับการประชุม

ที่ท้องสนามหลวง นายกษิต ภิรมย์ รมว. การต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ จ.ภูเก็ต ในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ว่า จะมีความชัดเจนในเรื่องการตอบรับของผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศ ต่าง ๆ ที่จะมาร่วมประชุมดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.)

ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกษิต ระบุว่าในวันที่ 12 พ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องการตอบรับของผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศ ต่าง ๆ ที่จะมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ จ.ภูเก็ต ว่า ขณะนี้เรากำลังรอคำตอบจากประเทศต่าง ๆ อยู่ ซึ่งจากการพูดคุยกับนาย วีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับแจ้งว่าภายใน 1-2 วันนี้ จะสามารถประมวลและสรุปเรื่องนี้ส่งมายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้ในส่วนของประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ตอบรับมาเกือบครบทุกประเทศแล้ว ส่วนประเทศคู่เจรจานั้นเรากำลังรออยู่

ยันไม่เลื่อนรอแค่ปรับกำหนดการ

“ที่จริงก็มีปัญหาเรื่องของกำหนดการอยู่ แต่โดยรวมทุกประเทศก็อยากจะเห็นการจัดประชุมโดยเร็ว เพราะมีเรื่องที่ค้างอยู่โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเลื่อนการประชุมดังกล่าว เพราะเรากำลังรอคำตอบอยู่ ซึ่งถ้าส่วนใหญ่ได้เวลาแล้ว เราจะคุยกับประเทศที่ยังติดขัดแล้วจะปรับ ซึ่งเราก็ทำอย่างนี้ทุกครั้ง สำหรับกำหนดวันที่ออกมานั้นเป็นเบื้องต้นเพราะประเทศอินโดนีเซียจะมีการ เลือกตั้งหลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ขณะที่ต้องให้ประเทศอินเดียจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อนซึ่งเราจะพยายามดูวันเวลา ตรงนี้อยู่ ซึ่งในการประชุมนี้จำเป็นต้องมีประเทศคู่เจรจาเพราะส่วนใหญ่ในกลุ่มอาเซียน มีการประชุมกันแล้ว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีหลายประเทศเรียกร้องให้เน้นเรื่องการรักษาความปลอดภัย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ เมื่อถามต่อว่ามีข่าวว่าผู้นำบางประเทศอาจจะขอนำชุดรักษาความปลอดภัยพิเศษ ติดอาวุธเข้ามาด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปกติเขาจะมีชุดรักษาความปลอดภัยพร้อมอาวุธเข้ามาด้วยอยู่แล้ว แต่จะมีการมาตกลงกันว่าจะเข้ามามากน้อยแค่ไหน อย่างไร และในลักษณะใด เมื่อถามว่าจากที่รัฐบาลได้ปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งหมดแล้วประเทศ ต่าง ๆ ที่จะเข้ามาประชุมมีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แนวโน้มจากเหตุการณ์หลายอย่างในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็น่าจะทำให้เขามองเรา ด้วยความมั่นใจขึ้น

ครม.ยังไม่พิจารณาพรบ.กอ.รมน.

เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.ได้ในสัปดาห์นี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เท่าที่ตนดูวาระการประชุม ครม.ในตอนนี้ เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม. เพราะจะให้กระทรวงการต่างประเทศสรุปสถานะการจัดการประชุมสุดอาเซียน กับประเทศคู่เจรจาและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ส่งกลับมาอีกครั้งก่อน ทั้งนี้ การเร่งออก พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่เป็นเรื่องภายในของเรามากกว่าว่าระบบการบริหารจัดการ อะไรที่จะอำนวยให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมั่นใจ อย่างไรก็ตามถ้าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็คงจะประกาศใช้ล่วงหน้าระยะหนึ่งก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนฯจะเริ่มขึ้น คงไม่ประกาศเฉพาะช่วง 1-2 วันนั้น

เล็งเชือดผวจ.-คนภูเก็ตขู่เสื้อแดง

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงการเตรียมพร้อมในการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่จังหวัดภูเก็ต นั้น ขณะนี้ ผู้ที่รับผิดชอบคือนายกฯและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะสั่งการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลความเรียบร้อย และหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอย่างเช่น ที่พัทยา จะไม่คาดโทษ แต่จะพิจารณาเลย

นายเรวัตร อารีย์รอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. ออกมาข่มขู่จะระดมคนเสื้อแดงไปประท้วงการจัดประชุมอาเซียนฯ ที่ จ.ภูเก็ต ว่า คนภูเก็ตพร้อมร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว โดยในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 22 พ.ค.นี้ ชาวภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงจะร่วมชุมนุมแสดงออกถึงความพร้อมเป็นเจ้าภาพ ที่บริเวณแหลมสะพานหิน เพื่อส่งสัญญาณให้รัฐบาลและคนไทย รับรู้ว่าจังหวัดภูเก็ตยินดีต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง นอกจากจะกอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศ ตนจึงขอเตือนผู้ที่คิดจะทำลายชาติบ้านเมืองขอให้แสดงออกความเห็นต่างทางการ เมืองด้านอื่น.

No comments:

Post a Comment