Thursday, May 14, 2009

ปชป.อ้าง"งบปลูกป่า"ส่อพิรุธ

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงโครงการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนว่า ให้หน่วยราชการที่จะเสนอทำโครงการแจ้งคณะกรรมาธิการว่าต้องใช้งบประมาณ เท่าใด และจะทำอะไรบ้าง โดยทุกหน่วยเสนอมาแล้วโดยใช้เงินประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปลูกป่าและงานรณรงค์ ส่วนหน่วยงานที่คณะกรรมาธิการฯ ติดใจมากที่สุดคือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์เสนอโครงการบริหารจัดการทรัพยากรอย่าง ยั่งยืนเพื่อลดภาวะโลกร้อน โดยการปลูกป่า 1 แสนไร่ ใช้งบประมาณ 330 ล้านบาท สำหรับโครงการนี้มีมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2551 แต่แผนดังกล่าวถูกชะลอและเพิ่งจะถูกอนุมัติ เมื่อเดือน เม.ย. 2552 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการนี้จะต้องเสร็จภายในปีงบประมาณนี้คือ ก่อนวันที่ 30 ก.ย. 2552 แต่เวลานี้กรมอุทยานฯยังไม่ได้เตรียมการเพาะพันธุ์กล้าไม้เพื่อนำมาปลูกแต่ อย่างใด

นายนริศกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการนี้ต้องเตรียมกล้าไม้จำนวนมาก ตามหลักวิชาการแล้วเมื่อจะเพาะกล้าไม้เพื่อนำมาปลูกนั้นต้องเตรียมการเก็บ เมล็ดไม้ซึ่งต้องใช้เวลา 3-4 เดือน คือประมาณ เดือน พ.ย.-ม.ค. เมื่อได้เมล็ดไม้แล้วจึงนำไปเพาะต้นกล้า ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 เดือน แต่จะให้ดีได้ต้นกล้าที่แข็งแรงที่สุดต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี แต่นี่กรมอุทยานฯ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จึงอยากให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรฯ ร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบว่ามีเอกชนใดที่จะเข้าร่วมโครงการนี้หรือไม่ เพราะตนไม่เชื่อว่าจะมีเอกชนใดที่จะสามารถเพาะกล้าไม้ได้เพียงพอกับงบประมาณ ที่ตั้งไว้ได้ทันเวลา

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า หลังจากเข้ามาเป็นอธิบดีเมื่อเดือน ก.พ. ตนได้ขอชะลอโครงการนี้ด้วยตัวเอง เพราะเห็นว่าบางพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์อยู่แล้วจึงเปลี่ยนใหม่ โดยให้มีการสำรวจจากดาวเทียมและกูเกิล เอิร์ธ ว่าพื้นที่ใดบ้างที่ถูกบุกรุกจนป่าเริ่มเสื่อมโทรม รวมทั้งให้คนในพื้นที่ที่เห็นว่าที่ของตัวเองมีปัญหาขอเข้าร่วมโครงการเอง หากตรวจสอบพบว่าเหมาะสมก็จะอนุมัติ ซึ่งทั้งหมดยังไม่ครบ 1 แสนไร่ ได้แค่ 9 หมื่นไร่เศษ ๆ เท่านั้น ที่เหลือจะไปปลูกป่าชายหาด และปลูกป่าพืชอาหารช้าง โดยคนในพื้นที่จะเป็นผู้จัดการ บางพื้นที่ก็เพาะต้นกล้าเอง ซึ่งเขาเตรียมไว้ตั้งแต่เดือน ม.ค.แล้ว หรือบางพื้นที่อาจจะซื้อ โดยทุกขั้นตอนแจกแจงรายละเอียดได้ทั้งหมด เรื่องที่กรรมาธิการฯ จะตรวจสอบนั้นไม่มีปัญหาอะไร สามารถตรวจสอบและชี้แนะได้ตลอดเวลา เพราะเราโปร่งใสอยู่แล้ว.

No comments:

Post a Comment