Thursday, May 14, 2009

"จิ๋ว"เตือนสติบิ๊กทหารกองทัพของปชช.

"บิ๊กจิ๋ว"ทำปกขาวเตือนสติ“บิ๊กทหาร”อย่าทำ กองทัพเป็นของเผด็จการคนส่วนน้อย สอนน้องต้องเป็นตัวของตัวเอง ทำเพื่อประโยชน์ประชา ชน ช่วยยุติความแตกแยกคนในชาติ

(14พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก จัดทำหนังสือเรื่อง “ยุทธศาสตร์แก้ไขความขัดแย้ง” ปกสีขาวแจกจ่าย เนื่องในโอกาสวันเกิดครบรอบ 77 ปี เมื่อวันที่ 15 พ.ค.โดยรวมรวมคำบรรยายตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งในประเทศ ถึงขั้นใช้อาวุธเข้าต่อสู้กัน จนกระทั่งแก้ไขปัญหายุติความขัดแย้งลงได้ด้วยการที่ทำความเข้าใจกับผู้ที่ หนีเข้าป่าไปอยู่ภายใต้การดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งสงครามครั้งนั้นไม่มีผู้แพ้ ผู้ชนะ

พล.อ.ชวลิต กล่าวในบทนำว่า อยากให้ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง นำคำบรรยายของตนเองไปใช้ให้เป็นประโยชน์ และประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเผด็จการ คอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย ซึ่งตกค้างมากว่า 20 ปีที่แล้ว ซึ่งการแก้ไขปัญหาในอดีตทำได้ด้วยความปรารถนาดีและหวังดีของคนไทยที่รักชาติ รักแผ่นดิน และความกล้าหาญของพี่น้องทุกฝ่าย ด้วยความสามารถของรัฐบาลในยุคนั้น และที่สำคัญสูงสุดคือด้วยบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ และ พระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ทำให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากภัยพิบัติในยุคนั้น มาได้

บทนำบอกด้วยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งเริ่มครุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีฝ่ายต่างๆ เผชิญหน้าแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงประเทศชาติ ประชาชน มุ่งเอาประชาชนเป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก กองทัพซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการรักษาความมั่นคงของชาติ ควรจะยึดหลักให้มั่น คิดถึงความมั่นคงของชาติ ศาสน์ และ พระมหากษัตริย์เป็นหลัก เนื่องจากกองทัพไทยเป็นสถาบันคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่โบราณ โดยผ่านวิวัฒนาการและทำการต่อสู้เพื่อพิทักษ์รักษาและค้ำจุนชาติมาทุกยุคทุก สมัย ได้รับบทเรียนทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อชาติบ้านเมืองอย่างมากมาย

ทหาร ในกองทัพต้องมีความสำนึกอยู่เสมอว่า กองทัพเป็นของประชาชน ทุกสิ่งที่กองทัพกระทำ ต้องกระทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของประเทศ และเจ้าของกองทัพ โดยกองทัพจะต้องมีอุดมการณ์และมีจุดยืนประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ เป็นองค์ประมุขแห่งรัฐ บทบาทของกองทัพที่มีต่อการเมือง หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในอันที่กองทัพจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในห้วงระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชนเสมอ โดยกองทัพจะร่วมมือกับฝ่ายพลเรือนเพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีไม่แบ่งแยก ในอันที่จะพัฒนาระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ คือระบอบการปกครองที่จะทำให้ประชาชนแผ่นดินนี้ มีความสำนึกว่าเขาเป็นเจ้าของแผ่นดิน และได้รับผลประโยชน์จากประเทศนี้อย่างเป็นธรรม กองทัพจึงต้องทำให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในสิ่งที่ทำ และ มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของกองทัพอย่างแท้จริง

ในคำบรรยาย เรื่อง “ทหารกับประชาธิปไตยไทย” ในช่วงปี 2531 มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า สถานการณ์ตอนนั้น กองทัพเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และเป็นประชาธิปไตยพอสมควรทีเดียว มีแนวโน้มเป็นกองทัพของประชาชน ดังที่กองทัพได้แสดงเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ตลอดมา กองทัพเป็นของประชาชน มาจากประชาชน และกองทัพเป็นมิตรของประชาชนและศัตรูของคอมมิวนิสต์ กองทัพนั้นเป็นได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง 2 อย่างคือ กองทัพเป็นของเผด็จการ (เป็นของคนส่วนน้อย) หรือกองทัพเป็นของประชาชน เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นการปกครองของประชาชน

“บทบาท ของกองทัพในห้วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงนั้น กองทัพเข้าใจดี และ มิได้คิดที่จะไปมีบทบาทในลักษณะไปยึดอำนาจในการปกครองประเทศมาเป็นของกองทัพ เลยแม้แต่น้อย บางคนอาจมองว่าทหารต้องการปกครองประเทศ ทหารต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ทหารเป็นเทวดา ฯลฯ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทหารกลับคิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้ระยะเปลี่ยนแปลงนั้นมันสั้นที่สุด ทำอย่างไรจึงจะถอนตัวออกมาให้เร็วที่สุด ประเทศชาติจะได้เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขแห่ง รัฐเท่านั้น เพราะเป็นระบอบที่เหมาะสมกับสังคมไทย และประชาชนไทยต้องการ จึงสรุปได้ว่าทหารหรือกองทัพไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้าไปผูกพันทางการเมืองตลอดไป การผูกพันที่เป็นอยู่เป็นการผูกพันในห้วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น”

ใน หนังสือได้นำเอกสาร ลับ บันทึกคำบรรยาย เรื่อง นโยบายและแนวทางการต่อสู้ในเมืองเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ที่หอประชุมกิตติขจร เมื่อวันที่ 23 ธค. 23 มาตีพิมพ์ในท้ายของหนังสือด้วย โดยส่วนใหญ่ได้พูดถึง นโยบาย 66 / 23 พร้อมตบท้ายว่า เราจะบรรลุผลสำเร็จในการแก้ปัญหาของชาติได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับทุกคน ว่าจะดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ทรง ถือว่า “ ทุกข์ของราษฎร ทุกข์ของชาติ คือทุกข์ของแผ่นดิน” หรือไม่เพียงใด

No comments:

Post a Comment