Thursday, May 14, 2009

"เจิมศักดิ์"ส่อทิ้งกก.สมานฉันท์

“อภิสิทธิ์” ลั่นไทยต้องเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม “สุเทพ” ชี้ไม่เกี่ยวเรื่องความปลอดภัย แต่ผู้นำว่างเว้นภาระกิจไม่ตรงกัน วิงวอนเสื้อแดงอย่าแก้ปัญหานอกระบบ ส่วน “ชวน” ออกโรงไม่หนักใจพันธมิตรฯตั้งพรรค “ปชป.” อัดยับ 8 กก.สมานฉันท์ “เจิมศักดิ์” ส่อแววสลัดทิ้งเก้าอี้ ขณะที่ “ป๋าเหนาะ” ไม่ถอดใจไขก๊อกแน่นอน ด้านประชุมอนุฯกก.แก้ไขรธน. แนวโน้มจ่อแก้ไข ม.237 “ผบช.ส.” ไฟเขียว สั่งฟ้อง “ทักษิณ” คดีหมิ่นเบื้องสูง จ้อผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศช่วงสงกรานต์ “รอง ผบช.น.” ระบุยังไม่มีออกหมายจับเพิ่ม คดีทุบรถนายกฯที่มหาดไทย

ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเลื่อน การจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ในเดือน มิ.ย. ที่จังหวัดภูเก็ตว่า รัฐบาลกำลัง จะชี้แจงในเรื่องดังกล่าวซึ่งเบื้องต้นก็ได้ชี้แจง ถึงปัญหาข้อเท็จจริงไปแล้วในเรื่องของเวลาที่สะดวกไม่ตรงกัน การประชุมแบบนี้โดยปกติ ต้องกำหนดล่วงหน้าประมาณครึ่งปีแต่บังเอิญว่าประเทศไทยเกิดปัญหาขึ้นในเดือน เม.ย.และจะพยายามที่จะจัดการประชุมอีกครั้งแต่เวลากระชั้นเกินไป แต่ความชัดเจนในเรื่องนี้จะมีมากขึ้น เพราะจะมีการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศ คู่เจรจาในวันที่ 19 พ.ค. ที่ จ.ภูเก็ตจะมีการประเมินเรื่อง ทั้งหมดรวมทั้งต้องมีคำตอบออกมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะอยู่ถึงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อย่าไปกังวลว่าจะเป็นรัฐบาลไหนอย่างไร ประเด็นคือเรื่องการจัดการประชุมเป็นงานของประเทศไทย ดังนั้นเราต้องจัดการประชุมให้ได้ เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยประเมินว่ารัฐบาลจะยุบสภาภายใน 3 เดือนข้างหน้า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ไม่เกี่ยวกัน ในเมื่อมาถามผมว่าจะอยู่ถึงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ผมจะอยู่หรือไม่อยู่ ประเทศไทยก็จะต้องจัดการประชุมให้ได้ เพราะเป็นงานของคนไทยทุกคนและผมก็ยังไม่คิดที่จะไปไหน”

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเลื่อนประชุมอาเซียนบวก 3 และ 6 ไปเป็นเดือน ต.ค.ว่า เหตุผลที่เลื่อนการประชุมออกไปไม่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย แต่เป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ มีเวลาว่างไม่ตรงกัน ส่วนเรื่องความปลอดภัย ถือเป็นเรื่องที่เราจะต้องเตรียมการต่อไปเพื่อให้มีความพร้อม หากผู้นำเดินทางมาร่วมประชุมไม่ว่าจะเป็นเมื่อใด เมื่อถามว่ามีผู้นำประเทศไหน บ้างที่ไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย นายสุเทพ กล่าวว่า ต้องถาม รมว.การต่างประเทศ เพราะตนไม่ได้ติดต่อผู้นำ

ต่อข้อถามถึงกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงประกาศชุมนุมอีกครั้งที่หน้าสภาในวันที่ 18 พ.ค.นี้ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนก็คงต้องทำหน้าที่ของตนไป แต่อยากเรียนประชาชนว่าขอให้บ้านเมืองได้แก้ไขปัญหากันโดยระบบ ไม่ใช่ทำกันนอกระบบ ซึ่งเรามีระบบรัฐสภา มีรัฐบาลจะผิดหรือถูกอย่างไรก็ขอให้มาแก้ไขในระบบ

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเตรียมตั้ง พรรคการเมือง ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่หลายพรรคซึ่งถือเป็น ปกติที่มีพรรคการเมืองตั้งและล้มไปเรื่อย ๆ แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังอยู่ที่เดิม ส่วนจะกระทบกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่เพราะฐานเสียงคล้ายกันนั้น คิดว่าฐานเสียงก็มีบางส่วนคล้ายกันแต่เรื่องนี้ไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้ เพราะยังไม่ทราบว่าจะมีการตั้งพรรคใด ๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกหรือไม่

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายกฤช เอื้อวงศ์ ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงการยื่นขอจัดตั้งพรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตยว่า มีการมายื่นขอจดแจ้งจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุชื่อผู้ยื่นที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ชื่อ นางภาณุมาศ พรหมสูตร และนายยงยศ เล็กกลาง เป็นเลขาธิการพรรค มีที่ทำการอยู่ที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา และใช้อักษรชื่อพรรค (พ.ป.ป.) โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาว่าจะตอบรับหรือไม่ภายใน 30 วันนับจากวันที่ยื่นขอจดแจ้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงครั้งนี้ทางสำนักงาน กกต.ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียด ในเรื่องของภาพสัญลักษณ์ของพรรค โดยอ้างว่าอยู่ในขั้นตอนขอจดแจ้งเท่านั้นยังไม่ ได้อนุญาตให้จัดตั้งพรรคได้ อย่างไรก็ดีพรรค ดังกล่าวใช้ตัวย่อว่า “พ.ป.ป.” แต่ไม่ใช่ “พธม.” อย่างที่กลุ่มพันธมิตรฯ รวมทั้งไม่พบว่ามีนโยบายการเมืองใหม่

ที่อาคารวุฒิสภา ได้มีการประชุมอนุคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความ สมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทยนัดที่ 2 มีนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เป็นประธาน โดยหลังการหารือนานกว่า 5 ชม.ได้สรุปข้อเสนอของอนุกรรมการฯ ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและ การศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรม นูญ ในวันที่ 19 พ.ค. จำนวน 6 ข้อในระดับเร่งด่วน ส่วนประเด็นการพิจารณาเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็น 2 ความเห็นมีทั้งเห็นด้วยควรเยียวยาผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและอีกฝ่าย เป็นตัวแทนรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการเยียวยาเพราะเห็นว่ากระบวนการพิจารณาตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความชอบแล้ว

นายชุมพล กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ในฐานะประธานส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกแถลงการณ์แจกจ่ายสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาระบุว่า ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เริ่มรู้สึกอึดอัดในแนวทางการทำงานของ 8 ตัวแทนพรรคที่เข้าเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและแก้ไข รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญบางมาตราต้องดูว่าประชาชนเจ้าของประเทศ ส่วนใหญ่เห็นตามนั้นด้วยหรือไม่ ควรจะได้มีการสอบถามหรือทำประชามติให้เป็นที่ชัดเจนเสียก่อน ดังนั้นหากตัวแทนของพรรคดำเนินการในลักษณะอย่างนี้จะต้องมีการหารือ ในที่ประชุมส.ส.ของพรรคเพื่อวางกรอบให้ตัวแทนทั้ง 8 คนเสียใหม่

นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ในฐานะที่ปรึกษากรรมการสมานฉันท์ เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ยืนยันว่าไม่ได้มีความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องการเสนอ ตั้งรัฐบาลเพื่อชาติของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพราะตนยืนยันว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้มีความขัดแย้งรุนแรง จนต้องตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ขึ้นมาเป็นชุดแรกของประเทศไทย ทั้งนี้ตนจะขอดูการทำงานของ 3 อนุกรรมการฯว่าจะทำงานกันอย่างไร เพราะคณะกรรมการฯชุดนี้ตั้งขึ้นมามีธงคือเพื่อสร้างความปรองดอง เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องช่วยกันเสนอแนะ ไม่ได้ตั้งมาเพื่อให้ตัดสินว่าถูกหรือผิด

เมื่อถามว่า จะถอดใจลาออกหรือไม่ ถ้าข้อเสนอต่าง ๆ ไม่ได้รับการขานรับ นายเสนาะ ตอบว่า “ผมไม่ใช่คนอย่างนั้นไม่ใช่คนขี้โวยวาย เพราะภูผาก็คือภูผาอะไรจะมาเยี่ยวรดหรือมาขี้ใส่ก็ยังเป็นภูผาอยู่วันยัง ค่ำ”

ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 1 ในคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจในการประชุมอนุกรรมการฯเมื่อวันที่ 13 พ.ค. เพราะตนรู้สึกเหมือนมีการวางแผน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อนักการเมืองโดยไม่มีประชาชนเข้ามามีส่วน ร่วม ซึ่งตนเห็นว่ามันรวบรัดมีธงอยู่ในใจ ที่จะแก้มาตรา 237 และ 309 ให้กับนักการเมือง และเพื่อเอื้อให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯพ้นผิด ตอนนี้ยอมรับว่าลำบากใจเพราะเกรงใจวุฒิสภาที่เลือกตัว เองมา แต่ขอฟังการประชุมอีกอนุกรรมการฯ 2-3 ครั้ง หากเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์คงต้อง ออกเพราะเกรงจะถูกนำไปอ้างว่ามีส่วนเข้าร่วมประชุม

ขณะเดียวกันการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่ เกี่ยวข้อง ที่มี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. สรรหา เป็นประธาน ปรากฏว่าอนุกรรมการฯจากพรรคการเมืองต่างพากันอภิปรายสนับสนุนให้มีการแก้ไข มาตรา 237 ขณะที่อนุกรรมการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ต่างอภิปรายสนับสนุนคงมาตรา 237 ไว้ โดยนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากคงมาตรา 237 ไว้ก็สามารถเป็นเครื่องมือในการป้องกันการซื้อเสียงได้ แต่หากแก้มาตรา 237 แล้วแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ตนก็ยินดีให้แก้

หลังใช้เวลาอภิปรายนานเกือบ 4 ชม. ปรากฏว่าอนุกรรมการฯส่วนใหญ่ เห็นด้วยว่าจะให้แก้ไขมาตรา 237 โดยให้ตัดวรรคสองออก ซึ่งจะให้มีการลงโทษเฉพาะคนที่ทำผิดเท่านั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า จะนำเหตุและผลไปเสนอในการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯในวันอังคารที่ 19 พ.ค.นี้ โดยต้องรับฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการฯอีก 2 ชุดด้วย

ที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผบช.ส. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีคณะกรรมการตัวแทนจาก บช.น. บช.ก. และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าร่วมประชุม พล.ต.ท.ธีระเดช กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมมีการสรุปกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศในช่วงวันที่ 12-13 เม.ย.ที่ผ่านมาว่าเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีความเห็นสั่งฟ้องและให้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมดให้ทาง บช.ก.ดำเนินคดีในวันที่ 15 พ.ค.นี้

ด้าน พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รอง ผบช.น. แถลงข่าวปฏิเสธกรณีที่นายอดิศร เพียงเกษ 1 ในแกนนำ นปช.ระบุพนักงานสอบสวนนครบาลเตรียมออกหมายจับกลุ่มคนเสื้อแดงที่บุกรุก กระทรวงมหาดไทยอีกกว่า 100 คนว่ายังไม่มีข้อมูลไม่ทราบว่าเอาข้อมูลมาจากไหน เท่าที่ทราบขณะนี้มีเพียงกรณีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เข้ามอบตัวต่อ พ.ต.อ.วัลลภ ปทุมเมือง รักษาการ ผบก.น.6 ที่ สน.สำราญราษฎร์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในมาตรา 116 (3) ข้อหาการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน กรณีนำผู้ชุมนุมบุก กระทรวงมหาดไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ผู้บัญชาการทหารบก ได้จัดทำหนังสือเรื่อง “ยุทธศาสตร์แก้ไขความขัดแย้ง” ปกสีขาวแจกจ่าย เนื่องในโอกาสวันเกิดครบรอบ 77 ปี โดยรวบรวมคำบรรยายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งในประเทศ ถึงขั้นใช้อาวุธเข้าต่อสู้กัน จนกระทั่งแก้ไขปัญหายุติความขัดแย้งลงได้ด้วยการที่ทำความเข้าใจกับผู้ที่ หนีเข้าป่า ซึ่ง สงครามครั้งนั้นไม่มีผู้แพ้ ผู้ชนะ นอกจากนี้อยากให้ทหารในกองทัพมีความสำนึกอยู่เสมอว่า “กองทัพเป็นของประชาชน” จะต้องร่วมมือกับฝ่ายพลเรือน เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีไม่แบ่งแยกเพื่อพัฒนาระบอบการปกครองให้เป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เพราะเป็นระบอบการปกครองที่จะทำให้ประชาชนแผ่นดินนี้ได้รับผลประโยชน์อย่าง เป็นธรรม

ทั้งนี้กองทัพเป็นได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่างคือ 1.กองทัพเป็นของเผด็จการ (เป็นของคนส่วนน้อย) หรือ 2.กองทัพเป็นของประชาชน เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นการปกครองของประชาชน.

No comments:

Post a Comment