Sunday, May 10, 2009

“มาร์ค” ลั่นพร้อมฟังทุกสีร่วมแก้ปัญหาชาติ ปัดซื้อเวลาแก้ รธน.

นายกฯ อภิสิทธิ์ รับ “ชวน-บัญญัติ” เห็นแย้งแก้รัฐธรรมนูญ ชี้เป็นห่วงในบางเรื่องหวั่นเกิดความสับสน เผยพร้อมยอมรับฟังทุกสี ทุกฝ่าย ชี้ต้องแก้รัฐธรรมนูญในบางมาตราให้ขัดกุมขึ้น ปัดซื้อเวลา ย้ำเหตุถูกทุบรถถูกระทำจริงไม่ได้หวังสร้างสถานการณ์

วันนี้ (10 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าซื้อเวลาว่า คงไม่ใช่ คำถามก็คือว่าถ้าบอกว่าจะเป็นการซื้อเวลา แปลว่าจะต้องทำอย่างไร เราทราบอยู่แล้วว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และขัดแย้งกันค่อนข้างรุนแรง อย่าลืมว่าปีที่แล้วที่มีการชุมนุม ก็เริ่มต้นมาจากปัญหานี้ เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องการที่จะไปซ้ำรอย ทำอะไรที่ไปจุดชนวนความขัดแย้ง ทีนี้วิธีที่จะไม่ให้เป็นชนวนของความขัดแย้ง แต่เรายอมรับว่าเป็นประเด็นที่จำเป็นจะต้องได้รับการสะสาง ผมเองพูดตั้งแต่วันแรกที่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ว่าต้องแก้ เพียงแต่ประเด็นที่ผมมองว่าจะแก้ อาจจะไม่ตรงกับประเด็นอื่นที่คนอื่นอยากจะแก้ก็ได้ เพราะฉะนั้น วิธีเดียวที่จะทำให้ไม่เป็นปมความขัดแย้ง คือต้องมีกระบวนการที่เปิดกว้าง ที่มีการแลกเปลี่ยนที่เปิดเผย ที่สามารถนำมาพูดคุยได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่จะมาบอกว่าพอใช้เวลาบ้าง ก็เลยเป็นเรื่องซื้อเวลา ตนจะซื้อเวลาทำอะไร ตนจะไม่ทำเลยก็ได้เรื่องนี้ ถูกไหม หรือจะทำทันที หรือจะประกาศว่าอีก 2 ปีค่อยทำ ก็สามารถที่จะพูดได้ทั้งนั้น แต่ตนแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของคนจำนวนมากที่มา ชุมนุม ที่มาอะไร เราต้องฟังเขา แต่การฟังเขาไม่ได้หมายความว่า ไม่ฟังคนที่ไม่มาชุมนุม เราก็ต้องเอาอันนั้นมาวางบนโต๊ะ มันก็ต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่ง คิดว่าทุกคนเข้าใจได้

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวนายกฯมองว่าช่วงเวลานี้ สมควรที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยัง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าในบางมาตราซึ่งเมื่อมีการใช้แล้ว เราเห็นได้ชัดว่าหา มันเป็นอุปสรรคหรือไม่ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือสามารถปรับปรุงให้ เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นได้ ก็สามารถทำได้ ได้ยกตัวอย่างไปหลายครั้ง ก็ไม่อยากให้ตีความในทางที่ผิด อย่างมาตรา 190 คิดว่าคงจะต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ วันนี้ที่ปฏิบัติยากไม่ใช่เรื่องหลักการ ปฏิบัติยากก็คือมันไม่ชัดเจน หน่วยงานไม่แน่ใจว่าเรื่องนั้นเข้าไหม เรื่องนี้เข้าข่ายไหม และอาจจะไปในทางที่ค่อนข้างว่า เมื่อกลัวก็ขอเสนอสภาฯ ไปก่อน การทำงานก็เลยดูไม่คล่องตัวเท่าที่ควร นี่ก็เป็นตัวอย่าง หรือปัญหาของ ส.ส. เองที่เวลารับเรื่องราวร้องทุกข์ขณะนี้ จะถ่ายทอดอย่างไรไม่ให้ถือว่าเป็นการไปแทรกแซงการปฏิบัติราชการ อย่างนี้ผมคิดว่ามันก็ชัด และก็มีประเด็นเรื่องโครงสร้างขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งว่าทุกคนก็มีความคิดเห็นของตัวเองอยู่แล้ว เช่น สภาฯ มีกี่สภาฯ จำนวนเท่าไหร่ มาอย่างไร ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสามารถที่จะหยิบขึ้นมาพูดคุยได้แล้ว

เมื่อถามว่า มาตรา 237 ค่อนข้างละเอียดอ่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตราไหน พอมีเรื่องของส่วนได้เสียของคนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขเป็นปัญหาแน่นอน ก่อนหน้านี้พยายามเสนอองค์กรที่เป็นกลาง เข้ามาทำเป็นเจ้าภาพ แต่ว่าในที่สุดเมื่อทางฝ่ายค้านเขาไม่สบายใจตรงนั้น ก็มาลองใช้วิธีนี้ แต่ได้แนะไปแล้วว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ต้องเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นจริง ๆ และเชื่อว่าถ้าพยายามไปทำโดยมีวาระแอบแฝง ไม่สำเร็จหรอก สุดท้ายก็จะเป็นชนวนของปัญหาขึ้นมาเปล่าๆ

เมื่อถามว่า มีข่าวว่าทั้ง นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน มีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คุยกับทั้ง 2 ท่านเป็นประจำอยู่แล้ว และจุดยืนความคิดเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง คิดว่าประเด็นเรื่องแก้ไขไม่แก้ไข คิดว่าบางประเด็นที่เป็นเรื่องที่ตนพูดยกตัวอย่างไปเมื่อสักครู่ ตนว่าทั้ง 2 ท่านไม่ได้มีปัญหา ท่านอดีตหัวหน้าบัญญัติจะมีความคิดกังวลอย่างหนึ่ง ว่าบางทีการส่งสัญญาณว่าจะแก้รัฐธรรม ทำให้เกิดความสับสน เพราะไปครอบคลุมบางประเด็น ซึ่งเราคิดว่าไม่สมควรจะแก้ไข ท่านก็มีความเป็นห่วงตรงนี้ อย่างนี้เป็นต้น เท่านั้นเอง

เมื่อถามว่า 4 เดือนกว่า ๆ ของรัฐบาลชุดนี้ที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีอยู่หลายโครงการสำหรับประชาชนรากหญ้า เช็ค 2,000 บาท เงินที่จะให้กับผู้ชรา ผู้สูงอายุ อสม. เรียนฟรี 15 ปี แต่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าภาพรวมเหมือนกับรัฐบาลยังไม่สามารถซื้อใจรากหญ้า ได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เป็นความเห็น เป็นการวิเคราะห์กันไป แต่อย่าลืมว่าโครงการหลัก ๆ จะเป็นเรียนฟรี เบี้ยยังชีพ หรือ อสม. เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้น เราก็คิดว่าต้องมีเวลาที่จะให้ประชาชนได้สัมผัสกับสิ่งที่รัฐบาลได้ทำ และที่ผ่านมาตนก็ได้รับปฏิกิริยาในทางบวกจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งได้รับโอกาสตรงนี้ และไม่เคยได้รับโอกาสมาก่อน แล้วจริง ๆ งานใหญ่ที่เราต้องทำต่อเนื่อง เช่น เรื่องภาคการเกษตร การดูแลเรื่องของราคาพืชผล เราก็ทำอย่างเต็มที่ และการปรับปรุงโครงการต่าง ๆ ในอดีต ก็ยังต้องทำต่อเนื่อง เช่น โครงการรักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตรงนี้ก็ยังต้องปรับปรุง หรือแม้กระทั่งบางเรื่องมีรายละเอียดที่ยังต้องไปสะสาง เมื่อวันก่อนประชุมสภาฯ ไปก็แก้เรื่องนี้ไปด้วย คือ กรณีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่เด็กของเราที่นับถืออิสลาม มีปัญหานิดหน่อยว่าเงินกู้นี้สอดคล้องกับหลักศาสนาของเขาหรือไม่ กำลังไปดูแก้ไขให้เรียบร้อย อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อถามว่า เป็นเพราะว่า นายกฯ ลงพื้นที่น้อยไปหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ใน 4 เดือน ก็กล้าพูดได้ว่า สิ่งที่ออกไปค่อนข้างจะมาก เทียบเคียงกับในอดีต 4 เดือนถือว่าทำงานกันเต็มที่จริง ๆ และการลงไปอธิบายต่าง ๆ ก็ทำ อย่างเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ก็ขอให้คณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ให้ครบทุกจังหวัด ก็ทำกันครบไปแล้ว 1 รอบ และบังเอิญที่ผ่านมาเราอยู่ในช่วงสมัยประชุม ตอนนี้จะเหลือ 2 สัปดาห์สุดท้ายในการประชุมสภาฯ เมื่อ 2 สัปดาห์จากนี้ไป เข้าใจว่าวันที่ 20 เป็นวันสุดท้ายที่จะประชุมสภาฯ ได้ หลังวันที่ 20 ไป เราจะเว้นไปได้ถึงเดือนสิงหาคม มีช่วงกลางเดือนมิถุนายน ที่จะต้องเปิดวิสามัญเพื่อมาพิจารณางบประมาณ นอกจากนั้นแล้ว คิดว่าการลงพื้นที่จะคล่องตัวขึ้น ส่วนจะลงที่ไหนบ้าง ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนด แต่ตั้งใจว่าพอใกล้ปิดสมัยประชุมก็จะเอาเรื่องนี้มารื้อฟื้นกันอีกครั้ง หนึ่ง

เมื่อถามว่า 4 เดือนกว่าของการทำงาน มีช่วงไหนไหมที่นายกฯ รู้สึกเหนื่อยท้อจนถึงขั้นอยากจะลาออก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปท้อถอย ตนเป็นผู้ที่อาสาตัว และต้องมีความรับผิดชอบ แต่ว่าแน่นอนถ้าหากว่าเราทำงานไม่ได้ ทำงานแล้วบ้านเมืองเสียหาย นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่า 4 เดือนที่ผ่านมาก็ผ่านอะไรมาเยอะ

“ไม่ท้อครับ ผมถามว่าบางช่วงรู้สึกเหนื่อยไหม ก็ธรรมดาครับ ในความเหนื่อยก็เป็นไปได้ ความเบื่อ หรือบางครั้งความรู้สึกทำไมต้องเกิดสิ่งนี้กับเรา อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดว่าพยายามทำร้ายผม เราก็คิด ที่คิดนี่ไม่ได้คิดว่าทำไม่มีคนอยากจะมาทำร้ายเรา การเมืองนี่ธรรมดานะครับ มันมีคู่แข่ง มันมี จะเรียกศัตรูทางการเมือง ก็ว่าได้ แต่ผมก็อยู่การเมืองมา 17 ปี 18 ปี ผมไม่เคยเห็นลักษณะที่ทำกันรุนแรงอย่างนี้ กล้าประกาศกันบนเวทีเลยว่า ไปไล่จับคนนี้ ไปไล่ล่าคนนี้ ไปทำร้ายคนนี้ ผมไม่เคยเห็น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่า มีการกล่าวหาว่า วันที่นายกฯ อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย จริง ๆ แล้วไม่ได้อยู่ในรถคันที่ถูกทุบ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ไม่อยากจะเชื่อนะ ว่ายังมีความพยายามที่จะทำอะไรอย่างนี้กันอยู่ ก็งงมากว่า กล่าวหาว่าสร้างสถานการณ์ ตนจะสร้างสถานการณ์เพื่ออะไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ตนประกาศ พ.ร.ก. แล้ว จะไปสร้างสถานการณ์เพื่อประกาศ พ.ร.ก. ก็ไม่ใช่ และการพูดบนเวทีเปิดเผยมาตั้งแต่ 5-6 วันก่อนหน้านั้น เขาบอกเขามีทีมไล่ล่า และคนที่บัญชาการอยู่ตรงหน้ากระทรวงมหาดไทย ก็เป็นแกนนำผู้ชุมนุมชัดเจน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตนเลย และประกาศชัดว่าให้ทำอะไรอย่างไร บัดนี้ก็มีหมายจับ ตนก็อยู่ในกระทรวงมหาดไทย ประกาศ พ.ร.ก. ก็ถ่ายทอดสด เดินลงมาก็มีผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่ตามลงมา แล้วก็ถ้าขึ้นรถช้ากว่านั้นอีกนิดหนึ่งก็ถึงตัวตนแล้ว

“คนก็เยอะแยะไปหมด ก็เห็นอยู่ว่าผมอยู่ในรถคันนั้น เลขาธิการนายกรัฐมนตรีจะสร้างสถานการณ์ลงทุนขนาดนั้นเชียวหรือครับ มันเป็นไปไม่ได้นะครับ ผมก็อยากจะเรียนอย่างนี้ครับว่า ที่จริงการทำร้ายคนอื่นก็แย่อยู่แล้วนะครับ แทนที่จะเห็นใจคนที่ถูกทำร้าย กลับมากล่าวหา ผู้ที่ถูกทำร้ายไปอีก ผมว่าไม่น่าจะเป็นแนวทางการเมืองที่ควรจะได้รับการสนับสนุนส่งเสริม คิดแตกต่างไม่เป็นไรครับ แต่ขอให้เรายึดอยู่ในข้อเท็จจริง และขอให้เราทำงานกันด้วยเหตุด้วยผล และเสียงทุกเสียงเอาเข้ามา เพื่อมาใช้ปรับปรุงพิจารณาแก้ไขกันในกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องใช้ความรุนแรง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีโพลของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งออกมา และผลของโพลที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่า กลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้กับชาติบ้านเมือง กลุ่มแรกที่ความเห็นส่วนใหญ่ก็คือนักการเมือง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ไปปฏิเสธ เพราะปัญหาหลายอย่างก็มาจากการเมือง เมื่อมาจากการเมือง นักการเมืองก็เป็นผู้ก่อ แต่ว่ากรุณาอย่าไปสรุปว่าแปลว่านักการเมืองทุกคน หรือแม้แต่จะไปสรุปว่านักการเมืองส่วนใหญ่ ทุกวงการก็มีคนที่สร้างปัญหา แต่แน่นอนครับ เวลานักการเมืองสร้างปัญหา ผลไปตกอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นหน้าที่ของพวกเรานักการเมือง ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่มีความตั้งใจดีที่จะไม่ให้เกิดปัญหา ก็ต้องมาช่วยกันแก้ไข

เมื่อถามว่า การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนที่เพิ่งจบไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้ว พอใจหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พอใจ เพราะว่าเป็นอีกโอกาสหนึ่งซึ่งภูมิภาคอาเซียนได้แสดงให้กับชาวโลกเห็นว่า เวลามีปัญหาที่เป็นปัญหาข้ามชาติ ภูมิภาคเรามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก็มาดูลู่ทางในการเสริมความพร้อมซึ่งกันและกัน และที่น่าดีใจคือว่าจากเดิมเราพูดถึงอาเซียน สุดท้ายเป็นอาเซียนบวก 3 คือทางจีน เกาหลี ญี่ปุ่น มาร่วมด้วย แล้วได้มีการมาพูดถึงมาตรการทั้งในเรื่องที่แต่ละประเทศทำอยู่แล้ว และตรงไหนบ้างที่จะเป็นมาตรฐานที่เสริมเข้าไป และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่น เรื่องของการเตรียมความพร้อมในเรื่องยา เรื่องวัคซีน เรื่องอะไรต่าง ๆ ไปจนถึงมาตรการเวลาที่มีการเดินทาง โดยมีการพูดถึงเรื่องว่าประเทศไหนซึ่งตรวจพบผู้ติดเชื้อ คงจะต้องมีการเข้มงวดในการตรวจคนขาออกด้วย ส่วนใหญ่จะตรวจขาเข้า แต่ว่าถ้าเกิดเราอยากจะช่วยกันทุกประเทศ ความจริงประเทศไหนที่มีการติดเชื้อแล้ว ขาออกก็ควรจะต้องช่วยดูด้วย

เมื่อถามว่า การประชุมครั้งนี้ไม่มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตรงนี้เป็นการสร้างความมั่นใจ ที่รัฐบาลจะจัดการประชุมผู้นำอาเซียนในเดือนมิถุนายน นี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมนานาชาติทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และโดยเฉพาะถ้าเป็นการประชุม อย่างเช่น อาเซียนบวก 3 สาธารณสุข หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก็คงเป็นที่จับตาของทั้งสมาชิก ทั้งชาวโลกอยู่แล้ว หลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นที่พัทยา ต้องขอขอบคุณที่ทุกฝ่ายได้ให้ความร่วมมือในการทำให้การจัดการประชุมครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และขณะนี้เราก็ยังมุ่งหน้าในการที่จะเตรียมความพร้อมในการที่จะประชุมที่ ภูเก็ตในเดือนหน้า ในส่วนของอาเซียนที่ถูกเลื่อนออกไปจากการประชุมที่พัทยา

เมื่อถามว่า การประชุมที่ภูเก็ต นายกฯ จะหยิบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาใช้ หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นข้อเสนอของฝ่ายความมั่นคงในขณะนี้ จริง ๆ ข้อเสนอของเขาไม่ได้มีอะไรน่ากลัว ลึกลับสลับซับซ้อนหรอก บอกได้เลย มี 2 เรื่องที่เป็นความต้องการ เรื่องแรกคือว่า เราคิดว่าการดูแลรักษาความปลอดภัย คงจะพึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ซึ่งตามปกติคือทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาระเขาก็เยอะ แล้วก็ความพร้อม ข้อจำกัดต่าง ๆ เราก็ทราบกันอยู่ เพราะฉะนั้น การที่มีการประกาศใช้อำนาจจะเป็นตามกฎหมายความมั่นคงหรืออำนาจอื่นใดก็แล้ว แต่ ก็จะช่วยให้มีความยืดหยุ่น ความคล่องตัวในการเอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น เช่น ทหาร หรือข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ เข้ามาช่วยทำงานนี้ ประการที่สองคือว่า ถ้าเรามีการประกาศใช้กฎหมาย อย่างเช่นกฎหมายความมั่นคง รัฐบาลก็จะมีอำนาจเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น การดูแลเกี่ยวกับการควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคม ตรวจคนเข้า-ออกหรืออะไรก็แล้วแต่ มีข้อกำหนดบางอย่าง ซึ่งจะทำให้การดูแลในเรื่องการชุมนุม ทำได้ง่ายขึ้น เขาต้องการเท่านี้ ทีนี้ก็จะต้องไปดูว่า สิ่งที่ต้องการ 2 เรื่องนี้ มีช่องทางไหนบ้างที่จะทำให้เราได้สิ่งเหล่านี้มา ช่องทางหนึ่งแน่นอนก็คือ กฎหมายความมั่นคง แต่ขณะนี้ให้ทางฝ่ายกฎหมายของทุกส่วน สำนักนายกรัฐมนตรีก็ดูอยู่ กองทัพก็ดูอยู่ ตำรวจก็ดูอยู่ ว่าการจะประกาศต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในตัวกฎหมาย เข้าเงื่อนไขหรือไม่ เข้าแล้ว การประกาศจะประกาศแบบไหนอย่างไร แล้วต้องไปทำความเข้าใจ ไม่ให้คนมีความรู้สึกว่า เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่าถึงได้มีการประกาศกฎหมายตรงนี้ แต่ว่ากฎหมายนี้ก็ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ก็ใช้อยู่ตามจังหวัดชายแดนอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า หมายความว่าทหารจะเป็นเจ้าภาพในการดูแลความปลอดภัย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เป็นการผสมผสาน ไม่ได้ไประบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นทหาร เป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้ามา กอ.รมน. ก็ประกอบไปด้วยทุกฝ่าย ต่อข้อถามว่า วันนั้นที่มีการประชุม จะห้ามการชุมนุมในจังหวัดภูเก็ตเลยไหมครับ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราก็ไม่อยากให้มีการชุมนุม แต่ว่าถ้าการชุมนุมอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายอนุญาตก็ทำได้ และแน่นอนที่สุด ถ้าเรามีการประกาศใช้กฎหมาย และมีอำนาจพิเศษบางอย่าง เราก็คงจะสามารถบริหารจัดการเรื่องของการชุมนุมได้ง่ายขึ้น ถามย้ำว่า ตีกรอบหรือไม่ว่าต้องไกลจากที่ประชุมสัก 5 กิโลเมตร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะไปทำอะไรอย่างนั้นได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามอำนาจที่มีอยู่ในกฎหมาย

ต่อข้อถามว่า ถ้าพูดอย่างนี้ก็ยังสามารถที่จะมีการชุมนุมได้ที่ภูเก็ต นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีหรือไม่ เราก็ยังไม่ทราบ และการประกาศควบคุมในเรื่องของการใช้เส้นทางอะไรต่าง ๆ ก็อาจจะเป็นตัวที่ช่วยได้ และใจตน ก็อยากจะบอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การใช้สิทธิ์ก็ทำได้ แต่ว่าจริง ๆ แล้วเรื่องของการประชุมอาเซียน เป็นเรื่องของประเทศ เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของหน้าตา เกียรติภูมิ ความเชื่อมั่น อยากจะบอกกับทุกคนว่า เรื่องที่เป็นปัญหาภายในของเรา อย่าให้กระเทือนตรงนั้นเลย และบัดนี้เราก็มีคณะกรรมการที่สภาฯ ตั้งขึ้นมา เปิดโอกาสทุกฝ่ายให้เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่แล้ว จะเป็นเรื่องการที่อยากจะไปดูแลสะสางเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา หรือจะเป็นในเรื่องของความสมานฉันท์ปรองดอง ผ่านกระบวนการของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม ช่องทางมีอยู่แล้ว และประเด็นอื่น ๆ ที่ผ่านมา ตนได้ยืนยันมาโดยตลอด มีปัญหาอะไรร้องเรียนมา ก็รับฟัง และก็มีคำตอบ

เมื่อถามว่า มีผู้นำประเทศไหนบ้างไหมที่เขาขอกำลังอารักขาเป็นพิเศษ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรฐานและมาตรการในการรักษาความปลอดภัยจะมีการประสานกันโดยปกติ แต่ละประเทศก็จะไม่เหมือนกันอยู่แล้ว และเป็นเรื่องปกติ จำได้ว่าตนไปที่ลอนดอน ช่วงที่ประชุม G 20 ประเทศอย่างสหรัฐฯ ต้องขนไปเองหมดเลยนะครับ แต่ละประเทศเขาก็จะมีมาตรฐานของเขา บางคณะก็มากันไม่ใหญ่โต บางคณะก็มากันเรียกว่าเครื่องบิน 2 ลำ 3 ลำ ก็มี

เมื่อถามว่า ตอนนี้ตอบรับมาครบหรือไม่ ทั้งอาเซียนและคู่เจรจา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ในระหว่างที่จะรับการยืนยันกันอยู่ เพราะว่ามีเรื่องของช่วงเวลาที่เราเจาะจงไปแล้วตอนนี้ คือ 13-14 มิถุนายน และกำลังจะดูว่าทุกประเทศสะดวกตรงนั้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ก็มีผู้นำบางประเทศมีกำหนดการที่จะไปสหรัฐฯ วันที่ 14 หรือ 15 ก็กังวลนิดหน่อยว่าจะไปทันหรือไม่อย่างไร ก็จะต้องดูรายละเอียดตรงนี้ แต่ในภาพรวมขณะนี้การตอบรับไปในทางบวก เพราะว่าทุกประเทศ หนึ่ง ก็คืออยากเห็นความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ อยากให้มีการประชุมโดยเร็ว และสอง ได้เห็นความตั้งใจของเรา ประเทศไทย คนไทย ที่อยากจะทำงานนี้ให้สำเร็จ และได้พยายามนำเหตุการณ์ต่าง ๆ กลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ เมื่อถามย้ำว่า นายกฯ มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบที่พัทยาอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ ต้องไม่ให้เกิดครับ”

No comments:

Post a Comment