Wednesday, May 13, 2009

"ประชามติอำพราง"

จากวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 วันแรกที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

วันนี้เวลาผ่านล่วงเลยไป 1 ปี ปมแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ กำลังถูกจุดให้เป็น “ชนวน” ความขัดแย้งในบ้านเมืองอีกรอบ

วิถีทางของ พรรคเพื่อไทย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ขับเคลื่อน สอดรับไปในแนวเดียวกันคือ รื้อกติกาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เร็วที่สุด

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาช่องเจาะเข้าไปแก้ไขไม่ได้เลยแม้แต่มาตราเดียว !!!

แม้ว่าวาระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จ่อคิวรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร เป็นวาระแรกมานานหลายเดือน แต่สุดท้ายก็ค้างเติ่งอยู่แค่ในเอกสารวาระการประชุม

ฝ่ายค้านยังหาจังหวะ "ทีเผลอ" ของรัฐบาลงัดรัฐธรรมนูญออกมาขย้ำสมดั่งใจยังไม่ได้

ล่าสุดวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับถูกฝ่ายการเมืองสอดเข้ามาเป็น “หัวใจ” ของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งที่รู้ดีว่าหากแก้ในประเด็นอื้อฉาวอย่าง มาตรา 237 ว่าด้วยเรื่องการยุบพรรค หรือเปิดช่องให้นิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบทั้ง 2 ลอต รวม 220 คน จะมีโอกาสถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน

นั่นหมายถึงอุปสรรคของความสมานฉันท์ในชาติ !!!

แต่ละพรรคการเมือง “โยนหิน” ออกมาแล้วหลายก้อน แต่ก็จมน้ำจ๋อม ไม่มีแรงกระเพื่อมในน้ำให้ดีใจกันเลย

“ป๋าเหนาะ“ เสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ในอดีตเคยต่อต้านรัฐธรรมนูญ ปี 2540 อย่างแข็งขัน

มาครั้งนี้ป่าวประกาศว่าการปลดโซ่ตรวนนักการเมืองไล่ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร จนถึงบริวารว่านเครือที่ถูกตัดสิทธิ์ จะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความสมานฉันท์ของชาติ

มีเพียงเสียงจากบ้าน 111+109 บางคน และพรรคฝ่ายค้านที่ชูมือหนุน !

แต่เมื่อโงหัวออกมาฟังเสียงผู้คนในบ้านในเมืองแล้ว มีแต่คนส่ายหัว รู้ทันกันหมดว่าที่จะจ้องจะรื้อกติกาเพื่อผลประโยชน์ของ “ทักษิณ” และเครือข่ายเท่านั้น

และก่อนที่อารมณ์ของสังคมจะ “ปะทุ” ถึง “จุดเดือด” พรรคการเมืองนกรู้ต่างพากัน “แตะเบรก” กันเอี๊ยดอ๊าด!

ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย หรือกระทั่งพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ “หลงจู๊เติ้ง” ประมุขพรรคตลอดกาล ถูกแขวน 5 ปี ยังต้องแบ่งรับแบ่งสู้หลังจากเห็นกระแสไม่เอาด้วยสูง

เกมนี้เห็นได้ชัดเจนว่าฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาล ปชป.ตกอยู่ในอาการ “กล้าๆ กลัวๆ” จะเดินหน้าก็ไปได้ไม่เต็มสูบ รู้ดีว่า “รอดยาก”
จึงเปิดเกมใหม่โยนให้ประชาชนลงประชามติ ตัดสินว่าจะให้แก้หรือไม่ให้แก้

อ้างเสียงประชาชนมาเป็นฐานความชอบธรรมในการแก้รัฐธรรมนูญ พลิกวาระของนักการเมืองให้เป็นวาระของสาธารณะ เป็นเรื่องประเทศชาติ
แต่การลงประชามติ ที่อ้างกันว่าจะเป็นกระบวนการที่ “ชี้ขาด” ว่าประชาชนชาวไทยจะเห็นด้วยกับแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในที่สุดแล้วมันคือ "เล่ห์เหลี่ยม" ของฝ่ายการเมืองที่คิดจะ "เล่นกล" กับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

เพราะรัฐธรรมนูญมี 309 มาตรา และใน 309 มาตรา มีเป็นร้อยประเด็น ซึ่งจะต้องมีประเด็นที่ไม่ถูกใจชาวบ้านซุกอยู่ในนั้นอย่างแน่นอน

ดังนั้นเมื่อวางโจทย์แคบๆ ว่าตกลงจะ "แก้-ไม่แก้" ประชาชนที่อยากจะแก้ไขย่อมมีมากกว่า แต่อยากให้แก้ด้วยเหตุผลร้อยแปดพันประการ

จะมา "มั่วนิ่ม" เหมาเข่งว่าประชาชนอนุญาตให้นิรโทษกรรมนักการเมืองหรือให้ยกเลิกมาตรการยุบ พรรคเพื่อเอื้อประโยชน์ในแวดวงนักการเมืองด้วยกัน

ถ้านักการเมืองหวังจะบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนด้วยการ “ตัดตอน” เช่นนี้

การฟังเสียงประชาชนอย่างนี้ไม่ต่างกับ “ประชามติอำพราง”

อย่างไรก็ดี การออกเสียงประชามตินั้นก็ไม่ใช่อยู่ๆ จะทำกันได้ทันที เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 165 บอกไว้ว่า

"ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้นมีโอกาสแสดงความคิด เห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน"

ดังนั้นเวลาในการให้ข้อมูลกับประชาชนจน “เพียงพอ” ตามรัฐธรรมนูญ นั้นอาจจะลากยาวเป็นปีก็ได้

เกมยาวๆ อย่างนี้ มีแต่จะเข้าทาง “พรรคประชาธิปัตย์” และพรรคร่วมรัฐบาล ที่มองทะลุช็อต

อาศัยช่วงชุลมุนนั่งอยู่ในอำนาจ ลอยตัวอยู่เหนือสงครามรัฐธรรมนูญที่ยาวนาน ไม่รู้วันจบ !

No comments:

Post a Comment