Thursday, May 21, 2009

เสวนาสมานฉันท์“แดง”จีบเหลืองเข้าพวก

เสวนาสมานฉันท์ “แดง” จีบ “เหลือง” เข้าพวก “นิธิ” ย้ำ แก้รธน.ไม่ดับขัดแย้ง ต้องเข้าใจปัญหาโครงสร้างสังคม “จรัล” ชี้ สังคมแตกที่สุด ตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อลุกลามบานปลาย ไม่จบ “เอ็นจีโอ” ระบุ เจอวิกฤต 3 ด้าน ส่วน “นักเลือกตั้ง” ฝันหวานสร้างปรองดองกลางอากาศ

(21พ.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วยนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นายศิริชัย ไม้งาม แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 2 นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)

นายชินวรณ์ กล่าวว่า สภาพสังคมในปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้วิกฤตทางการเมืองมีความรุนแรง มากยิ่งขึ้น คือเป็นสังคมที่มีความแตกต่างทางความคิด มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัจจัยสำคัญปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิด วิกฤติ แต่ก็ถือเป็นตัวเร่งที่สำคัญ แต่ทั้งนี้หากนักการเมืองมองการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงการทำเพื่อประโยชน์ ต่อฝ่ายตนเอง ก็คงไม่ทำให้ปัญหายุติ เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในยุคนี้ แม้จะไม่ได้เริ่มต้นที่จะแก้เพื่อประโยชน์นักการเมืองฝ่ายเดียว แต่หากเริ่มต้นโดยไม่ได้สร้างความเห็นพ้องต้องกัน คงหลีกไม่พ้นที่จะทำให้เกิดความแตกแยก

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือนักการเมือง เห็นได้ชัดจากในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหา แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลเห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญ 40 ทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีอำนาจเข้มแข็งมากเกินไป เนื่องจากนักการเมืองหาช่องทางแสดงหาอำนาจ สามารถแทรกแซงองค์กรอิสระได้ ส่วนรัฐธรรม 50 ก็มีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าทำให้เกิดระบอบตุลาการภิวัฒน์ หรือมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากคมช. รวมทั้งไม่สามารถทำให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญมองกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดระบบสองมาตรฐาน

“ต้องยอมรับว่าเวลานี้มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะเมื่อช่วงเดือน เม.ย. จึงมีการเรียกร้องในรัฐสภาให้แก้วิกฤติด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ โดยทำให้รัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดความปรองดอง แต่อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือจะต้องตั้งโจทย์ให้ตรง กันทุกภาคส่วนว่าต้นเหตุ หรือเรื่องใดทำให้เกิดวิกฤต มิเช่นนั้นการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นการเติมไฟความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น และหากจะแก้รัฐธรรมนูญ โดยนักการเมืองหรือพรรคการเมืองจะเสียประโยชน์บ้างก็ต้องยอมรับ เพื่อแก้วิกฤตของชาติให้ได้อย่างแท้จริง” นายชินวรณ์กล่าว

ประธานวิปรัฐบาล กล่าวอีกว่า ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้กระบวนการของรัฐสภา มีการตกผลึกทางความคิด โดยได้ข้อสรุปที่จะจัดทำสมัชชาทางอากาศ โดยจะขอเวลาสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ และหลังจากนั้นจะเปิดสมัชชาในระดับภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนร่วมแสดงจุดยืนทางการเมือง นอกจากนี้เราจะสร้างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์โดยนำจุดดีจุดแข็งของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ มาปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจการเมืองของสังคมไทย

ขณะที่นายพีรพันธ์ กล่าวว่า เบื้องต้นของการลดวิกฤตทางการเมือง คือนักการเมืองต้องลดวิวาทะ ลดการใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน และเปิดใจยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ส่วนรัฐธรรมนูญนั้นตนเห็นว่าส่วนหนึ่งทำให้เกิดวิกฤตมากขึ้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ได้เล็งเห็นปัญหานี้มาแล้ว จึงเคยเสนอไม่ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนสี่ขั้นของคมช. คือทำให้พรรคไทยรักไทยถูกยุบ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่สุดท้ายขั้นที่สี่แพ้เพราะเราได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

นอกจากนี้วิกฤตส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความ เป็นธรรม โดยเฉพาะการย้ายขั้วของ ส.ส. เพื่อไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสิทธิเสรีภาพที่ ส.ส.กระทำได้ แต่ตนเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม ส่วนเรื่องสองมาตรฐาน ระบอบอำมาตยาธิปไตยนั้น ถือเป็นปัญหาสะสมมายาวนานจนถึงขั้นที่ประชาชนรับไม่ได้ จงร่วมกันต่อสู้เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย

“หากบอกว่ารัฐธรรมนูญ 40 ก่อให้เกิดระบอบทุนนิยมสามานย์ ก็สามารถพูดได้เช่นกันว่ารัฐธรรมนูญ 50 ก็ก่อให้เกิดระบอบอำมาตยาธิปไตย แต่ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 40 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง ไม่ใช่ทำให้รัฐบาลอ่อนแอเหมือนที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน เพราะไม่เช่นนั้นคงบริหารประเทศไม่ได้ แต่สังคมกลับคิดว่าความเข็มแข็งของรัฐบาลเป็นการควบคุมระบอบรัฐสภา เป็นเผด็จการรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง” นายพีรพันธ์กล่าว

ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังเกิดจากประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มาจาก ประชาธิปไตย แต่เห็นว่าเป็นผลผลิตของเผด็จการทหาร ซึ่งตนไม่เถียงว่ามีบางมาตราที่มีส่วนดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ ดังนั้นตนเห็นว่าหลังจากนี้ควรคืนอำนาจให้ประชาชน จัดการเลือกตั้งใหม่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้การเลือกตั้งจะไม่สามารถปลดระบอบเผด็จการที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญได้ ในครั้งเดียว แต่จะสามารถปลดล็อควิกฤตได้ส่วนหนึ่ง

ด้านนายจรัล กล่าวว่า วิกฤตการเมืองปัจจุบันคือวิกฤตความไม่เชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นวิกฤตที่เกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของคน 2 ฝ่าย คือฝ่ายตนคือประชาธิปไตย กับอีกฝ่ายคืออำมาตยาธิปไตย ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ยังต่อสู้ทุกปริมณฑล ขยายตัวรุนแรง ดุเดือดมากขึ้นๆ รัฐธรรมนูญ 50 ไม่ใช่สาเหตุหลักของวิกฤต แต่เป็นเครื่องมือเพิ่มเติมทำให้ความขัดแย้งมันดำรงอยู่ และยกระดับขึ้นไป ซึ่งการสร้างรัฐธรรมนูญให้สมานฉันท์คือต้องให้คนทุกกลุ่มมีพื้นที่อย่างมีเสรีภาพ

“ประเทศไทยนั้นตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้นมายังไม่เคยมีความขัดแย้ง แตกแยกแบ่งฝ่าย ลึกซึ้งเท่าตอนนี้ แม้แต่ตอนที่พันธมิตรฯปลุกม็อบแล้วเอาทักษิณเป็นเส้นแบ่ง ขวาซ้าย ก็ยังไม่กว้างและลึกเท่าทุกวันนี้ ที่ร้าวลึกไปถึงในครอบครัว ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมเคยบอกพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เร็วๆนี้ว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองขณะนี้ไม่มีทางแก้ไข เป็นวิกฤตที่หนักหน่วงมากและจะเป็นรากฐานของวิกฤตอื่นๆตามมา และผมขอพยากรณ์ว่าถึงอย่างไรรัฐธรรมนูญคงแก้กันไม่ได้ ไม่เชื่อคอยดูแล้วจะมีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้นอย่างที่คาดคิดไม่ถึง”แกนนำนปช . กล่าว

นายจรัล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดในสังคมไทยคือมีวิกฤตทางปัญญา คนไทยใช้ปัญญาในการคิดต่ำที่สุดในรอบร้อปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ไม่ใช้ปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ป้อนข้อมูลอย่างไรก็เชื่ออย่างนั้น โดยไม่ใช่ปัญญาวิเคราะห์แต่จะใช้จุดยืนในการชี้ถูกชี้ผิด ถ้าพรรคพวกตัวเองทำถูกหมด แล้วเอาไปพูดต่อตามที่ตัวเองเชื่อ ดังนั้นความเสียหายร้ายแรงที่สุดไม่ใช่ประชาธิปไตย

ด้านนายศิริชัย กล่าวว่า ตอนแรกที่ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญปี 40 หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่ท้ายที่สุดนักการเมืองคนหนึ่งก็เข้ามาทำลาย และพยายามหาทางหลบหลีก ใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ บีบให้พรรคการเมืองเข้าร่วมเป็นรัฐบาลเพื่อเป็นเสียงข้างมาก จนทำให้ต้องมีการแก้ไขกลายเป็นรัฐธรรมนูญปี 50

นายศิริชัย กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นว่าการแก้วิกฤตชาติไม่จำเป็นต้องไปเตะต้องรัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้ที่จริยธรรมของนักการเมืองมากกว่า อย่างไรก็ตามการใช้เวทีของรัฐสภาในครั้งนี้ ตนไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้จริง เพราะแค่เริ่มต้นที่ก็พูดกันถึงแต่ปัญหาของพรรคการเมือง และประโยชน์ของนักการเมืองแทบทั้งสิ้น รวมทั้งหากนักการเมืองยังฉกฉวย หาช่องทางเข้าสู่อำนาจโดยไร้จริยธรรม เชื่อว่าไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับก็คงไม่สามารถแก้วิกฤตบ้านเมืองได้

นายไพโรจน์ กล่าวว่า สังคมไทยต้องแก้ไขวิกฤตให้ได้โดยไม่กำจัดคู่ความขัดแย้ง เพราะการที่จะพัฒนา เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าเรากำลังเจอวิกฤต 3 ด้าน คือ 1.วิกฤตเรื่องความชอบธรรมของอำนาจ เช่นรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ก็ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าใช้อำนาจที่ได้มาอย่างชอบธรรมหรือไม่ หรือรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ถูกตั้งคำถามว่ามีที่มาชอบธรรมหรือไม่ 2.วิกฤตความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้าง คือคนในสังคมส่วนหนึ่งยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาเดิมๆ เช่น เรื่องหนี้สิน สวัสดิการสังคม และการเข้าไม่ถึงในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และ 3.วิกฤตความเกลียดชัง คือ คนในสังคมผลิตความเกลียดชังทุกวัน โดยใช้ความเห็นและความเชื่อทำให้กลายเป็นความจริงขึ้นมาโดยผ่านสื่อเป็นผู้ กระจายความเกลียดชัง ทำให้ปัญหากลายเป็นวิกฤตที่แก้ไขได้ยาก

นายนิธิ กล่าวว่า ขณะนี้มีวิกฤตหลายด้าน โดยเฉพาะวิกฤตความชอบธรรมของอำนาจ เวลานี้ไม่มีสถาบันอะไรที่จะยุติความขัดแย้งที่เห็นผิวเผินระหว่างสี ได้ เพราะความชอบธรรมของสถาบัน แม้แต่น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ก็ยังถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรม ดังนั้นการเผชิญหน้ากันยังดำรงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะท่ามกลางที่คนระดับล่างถูกปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงสื่อเพื่อต่อรอง ทำให้เขาไม่มีพื้นที่ที่จะเล่น จึงต้องไปเล่นที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ หรือที่ท้องสนามหลวง แต่ ปัญหาอยู่ที่ว่าความขัดแย้งจะดำรงอยู่อย่างมีกติกาได้อย่างไร

“ผมเชื่อว่าความขัดแย้งจริงๆขณะนี้เกิดกับชนชั้นนำก่อน การเมืองไทยระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลงตัวได้ สมัยหนึ่งความขัดแย้งเคยแก้ไขได้ด้วยการยึดอำนาจ แต่ครั้งนี้ยึดแล้วก็แก้ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมีเสื้อสองสี แต่แก้ไม่ได้กันมาตั้งแต่ข้างบน ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นนำมันแรงเสียยิ่งกว่าแรง แต่สังคมเห็นแต่เสื้อเหลืองเสื้อแดง มันเล่นหนัก แต่ข้างบนเล่นกันหนักกว่านั้น ถ้ามองกลับไปจอมพลป. พิบูลสงคราม ความขัดแย้งมันตกลงกันได้ ก็บอกว่าให้ไปตายที่อื่น เงินทองหอบกันไป แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่อีกแล้ว มันจึงสะท้อนมายังคนระดับล่าง นำไปสู่การเลิกเคารพกติกา ซึ่งทำมาก่อนจากชนชั้นนำ สู้กันแบบหมดหน้าตัก ใครแพ้ใครชนะ แทบจะหมดหน้าตัก ไม่เหลืออะไรเลย”นายนิธิกล่าว

นายนิธิ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญจะแก้ปัญหาหรือป้องกันความรุนแรงไม่ได้เลย ถ้าไม่เข้าใจรากฐานของวิกฤตของสังคมที่มีความความเหลื่อมล้ำสูงมาก ทรัพย์สินกระจุกตัวอยู่กับคน 10 เปอร์เซนต์แรกตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านสังคม การเมือง แม้ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งเท่ากันก็จริงแต่ชาวนา กรรมกร ที่เดือดร้อนจากนโยบายของรัฐและนายทุน ก็ไม่มีโอกาสจะเข้าถึงสื่อ ถ้าไม่เข้าใจโครงสร้างปัญหาจะแก้รัฐธรรมนูญให้ตายก็แก้วิกฤตไม่ได้ ดังนั้นการจะแก้รัฐธรรมนูญต้องเข้าใจวิกฤตสังคมให้ดี ต้องศึกษาแล้วสร้างฉันทามตินำไปสู่การออกแบบกติกาที่ทุกฝ่ายพอใจ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าทั้งส.ส.ร.ปี 40 และ 50 อาจจะพิจารณาปัญหาสังคมแต่ยังมองในมุมแคบเกินไป เช่นส.ส.ร.40 ให้รัฐบาลเข้มแข็ง แต่ปรากฎว่ามีแต่รัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง ไม่กระจายอำนาจลงไป ทำให้อำนาจกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลางมากจนเกินไป จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน มีคนตายจากการฆ่าตัดตอน 2 พันกว่าคนโดยใครค้ายาบ้างก็ไม่รู้ อำนาจฝ่ายบริหารเข้มแข็งได้ แต่ต้องไม่ใช่กุมชีวิตของทุกคนเอาไว้ในมือ ดังนั้น ถ้าตกลงเรื่องปัญหาที่นำไปสู่การแก้วิกฤตไม่ได้ เราไม่สามารถสร้างกติกาที่เหมาะสมได้ แต่ถ้าเราตกลงกันได้ในปัญหาต่างๆ เราก็ออกแบบกันได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายการเสวนา มีการเปิดให้ประชาชนได้อภิปราย โดยนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือแซ่ด่าน แกนนำนปช.รุ่น 2 ซึ่งสวมหมวกเขียวปักดาวแดง และสวมเสื้อที่ระลึกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) มาร่วมงาน ได้กล่าวว่า การแก้ปัญหาการเมืองวันนี้ทั้งสีเหลืองและสีแดงต้องวางสีของตัวเองลงก่อน แล้วจึงคุยกัน ปัญหาเกิดจากชนชั้นนำปล่อยให้เขาทะเลาะกัน แต่พวกเราเหลือง แดง เราเป็นเพื่อนกันทั้งนั้น อยากจะหาโอกาสมาคุยกันและรวมตัวกัน พวกเราเป็นพลทหาร ถ้าระดับนายพลไม่ยิงกันเราก็อย่ายิงกัน พวกเราทั้งสองสีล้วนพวกเดียวกัน ถ้าเกิดสงครามกลางเมืองแล้วเราจะถือปืนกันคนละฝ่ายหรือ

No comments:

Post a Comment