Tuesday, April 21, 2009

ฝ่ายค้านนิคารากัวจี้รบ.แจงกรณีทักษิณ

รัฐบาลนิคารากัวยังนิ่งเฉยกรณี "ทักษิณ" ระบุประธานาธิบดีไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ขณะที่ฝ่ายค้านจี้รัฐบาลแจงข้อเท็จจริงมีผลประโยชน์อะไร “บรรหาร”หนุนแก้รัฐธรรมนูญเชื่อ “อภิสิทธิ์” จริงใจหลังสถานการณ์กดดัน วอนทุกฝ่ายเห็นแก่ประเทศ หันหน้าหากันจูบปากไม่ได้ก็จูบแก้มแทน "อภิสิทธิ์"ระบุประชุม 2 สภาต้องการให้เป็นเวทีชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง "พงศ์เทพ"ชี้นิรโทษกรรมไม่ประเด็นหลักแก้ไขปัญหาสังคมไทย ระบุปัญหาใหญ่มาจากรธน.ปี 50

(21เม.ย.) รัฐบาลของประธานาธิบดีแดเนียล ออร์เตก้า ที่สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเว็บไซท์ข่าวในอินเตอร์เน็ตอย่างน้อย 4 แห่ง ยังคงนิ่งเฉยต่อประเด็นใหม่ที่จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างไทยกับนิคารากัว และกรณีที่มีรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหลบหนีคดีจากประเทศไทย ไปโผล่ที่กรุงมานากัว เมืองหลวงของนิคารากัว หลังเดินทางออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพราะได้หนังสือเดินทางทางการทูตที่นิคารากัวออกให้

เจ้าหน้าที่ของกองตรวจคนเข้าเมือง ในสังกัดกระทรวงต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สนามบินนานาชาติ ซานดิโน่ เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นแม้แต่เงาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเข้าประเทศ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามที่สื่อมวลชนไทยรายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ด้านสำนักงานโฆษกของประธานาธิบดีออร์เตก้า ในกรุงมานากัว ได้เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ รับหนังสือเดินทางทางการทูต และมีตำแหน่งเป็นทูตพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ การเปิดเผยเรื่องนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์จากฝ่ายค้าน ที่เตือนว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ที่เอาตำแหน่งสำคัญนี้ไปให้กับต่างชาติ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลอธิบายให้ชัดเจนว่า ทำแบบนี้แล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์อันใดบ้าง

แม้จะไม่มีการทำข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐบาลไทยพยายามขอร้องให้ทางการนิคารากัวส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้ แต่แม้จะมีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง " ทูตพิเศษ " แต่รองประธานาธิบดีไฆเม่ โมราเลส คาราโซ่ ที่รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์กับนักธุรกิจต่างชาติ กลับกล่าวว่า ไม่รู้จักพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการส่วนตัว และกล่าวด้วยว่า เท่าที่จำได้ ประธานาธิบดีออร์เตก้า ก็ไม่รู้จัก พ.ต.ท.ทักษิณเช่นกัน คิดว่าอาจจะมีที่ปรึกษาแนะนำให้รู้จัก

รองประธานาธิบดีนิคารากัว กล่าวว่า อาจเป็นที่ปรึกษาคนเดิมของประธานาธิบดีออร์เตก้า ที่แนะนำเรื่องนี้ โดยไม่ได้รู้เรื่องราวที่ลึกซึ้ง เชื่อใจในทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยความสุจริตใจปราศจากเจตนามุ่งร้ายที่ ไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และจะไม่ให้การสนับสนุนกรณีที่มาเป็นตัวแทนของประเทศ ในสภาพที่เผชิญข้อกล่าวหาตั้งมากมายในบ้านของตัวเอง

“บรรหาร”หนุนแก้รธน.เชื่อ“อภิสิทธิ์”จริงใจ

นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลมีแนวทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 50 มีปัญหา และในขั้นประชาพิจารณ์มีความเห็นว่าจะไม่รับ เพราะเห็นว่าหากนำมาใช้จะมีปัญหาเกิดขึ้นหลายมาตรา เช่น ม. 190 มาตรา 237 และมาตรา 68 แต่กระแสขณะนี้ต้องการรัฐธรรมนูญจึงบอกให้สมาชิกให้ไปบอกชาวบ้านว่าให้รับไป ก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขภายหลัง ซึ่งถือเป็นสัญญาประชาคม เพราะฉะนั้นตนเห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขโดยแก้บางมาตรา ซึ่งจะต้องแยกคดีอาญาออกจากคดีทางการเมือง อย่าเอามาเกี่ยวข้อง เพราะคนไม่ได้ทำผิดแล้วไปบอกว่าเขาผิด ซึ่งไม่มีใครยอมรับได้

“ส่วนจะแก้อย่างไรอยู่ที่ส่วนรวม แต่น่าจะแก้เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน ส่วนระยะเวลาก็แล้วแต่เหตุการณ์ในอนาคต ผมมองว่านายกรัฐมนตรีมีความจริงใจในเรื่องนี้ เพราะท่านเห็นเหตุการณ์การเมืองมันกระชับเข้ามาอีกแล้ว คนเราอาจเปลี่ยนความคิด เมื่อท่านเกิดความคิดอย่างนี้ก็เกิดความปรองดองได้ของคนบางกลุ่มจะเกิด ประโยชน์มาก เราอย่าไปแยกออกเป็นคนละพวกกัน ถ้าแก้ก็ได้ ถ้าไม่แก้ก็ไม่เป็นไร ผมก็จะไปอยู่กับมังกร ” นายบรรหาร กล่าว

นายบรรหาร กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาว่า เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้น และมีถ่ายทอด ประชาชนทั่วประเทศจะได้รู้ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ตอนที่ติดอยู่ที่พัทยา กระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างไร และที่เสื้อแดงบอกว่าไม่ได้ทำ ประชาชนจะได้ใช้วิจารณญาณเอาเอง ส่วนที่มองว่าจะมีเหตุการณ์ป่วนในห้องประชุมร่วมรัฐสภา ตนคิดว่าอยู่กับประธานสภาฯจะควบคุมการประชุม แต่ถึงอย่างไรก็ไม่น่าจะเหมือนกับประเทศไต้หวัน แต่คงไม่ถึงกับขว้างรองเท้าเข้าหากัน ถ้าเป็นอย่างนั้นประธานสภาก็ให้ออกจากห้องประชุม เพราะฉะนั้นประธานสภาฯจะต้องเข้มงวด

นายบรรหาร กล่าวถึงการบริหารงานของรัฐบาลขณะนี้ว่า เห็นใจเพราะในยามที่ภาวะเหตุการณ์การเมืองเป็นอย่างนี้ การบริหารงานให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวกคงไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้ ก็ต้องใช้ความสามารถและความอดทนอย่างสูง ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และถ้าทำได้ก็หาทางเจรจากัน แต่จะทำได้ถึงขั้นไหนก็คงตอบไม่ได้ แต่เหตุการณ์ก็เลยเถิดไปไกลแล้ว จะหวนกับไปก็คงยากละบาก ขอวิงวอนแต่ละฝ่าย รวมทั้งฝ่ายเสื้อแดงเห็นแก่ประเทศชาติ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้นแล้ว ถ้าหยุดแล้วการท่องเที่ยว การส่งออกก็จะดีขึ้น ส่งผลต่อไตรมาสที่สี่จะดีขึ้น รายได้ที่หายไปแสนล้านบาทก็จะกลับคืนเข้ามา ถ้าเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ตลอด

เมื่อถามว่าอายุรัฐบาลอยู่ได้นานหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ถ้าตอบว่ายาวไปอีกฝ่ายก็ด่า ถ้าตอบสั้นไปอีกฝ่ายก็ว่า ไม่ตอบดีกว่า เอาว่าอยู่ได้แค่ไหนก็ถึงเท่านั้นแหละ อยู่แค่ไหนตนตอบไม่ได้ อาจจะเป็น 1- 2 ปีตอบไม่ได้ เมื่อถามต่อว่าทางการข่าวยังประเมินว่าสถานการณ์ยังวางใจไม่ได้ นายบรรหาร กล่าวว่า ก็ประมาทไม่ได้ ความจริงก็รู้จักกัน ไม่ว่าแดง เหลือง น้ำหมึกรู้จักกันทั้งนั้นแหละ แต่ความไม่เข้าใจกันมันก็มีปัญหา เมื่อถามว่าควรจะคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีกนานไหม นายบรรหาร กล่าวว่า ฝ่ายเอกชนก็เรียกร้องอยากให้ยกเลิก เช่นการท่องเที่ยว ตราบใดที่คงพ.ร.ก.ไว้คนก็ไม่เข้าประเทศ เพราะมองว่าเมืองไทยก็ไม่ปลอดภัย คิดว่าคงสักระยะหนึ่งให้เหตุการณ์คลี่คลายแน่ใจว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในทาง ที่ร้ายแรงก็คงจะประกาศยกเลิก คิดว่าคงไม่ทิ้งไว้นาน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะฝากอะไรไปถึงคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ความจริงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯก็นับถือกันเป็นพี่น้อง แต่ตนก็ห่างมาพอสมควร ก็ไม่ทราบว่ามีแนวคิดอย่างไร ซึ่งมีภาคเอกชนบางคนก็เสนอว่ารัฐบาลไปเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ คงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องจะไปดำเนินการ ส่วนตนก็หวังและวิงวอนขอให้หันหน้าเข้าหากัน ถ้าจูบไม่ได้ที่ปากก็จูบกันที่แก้มก็ยังดี หันหน้าเข้าหากันก็จะดีขึ้น

เมื่อถามว่าจะเป็นโซ่ข้อกลางหรือเป็นคนกลางในการเจรจาหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่มีใครยอมรับตนหรอก และตนก็ไม่พร้อมที่เป็นตัวกลาง เพราะบารมีไม่ถึง บารมียังต่ำต้อย คนกลางตอนนี้หายาก อย่างที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯบอกว่าหลังสงกรานต์จะมีคนกลางก็มองไม่เห็นใคร ตอนนี้อยากมาก เพราะบางทีทำไปถ้าไม่ดีก็ถูกด่า โดยเฉพาะสื่อมีความมีความสำคัญพอมีแนวคิดจะปลดล็อคให้อดีต 111 และ 109 ก็เขียนว่าซากศพ เขายังเป็นคน และไม่เหม็น สื่อก็มีส่วนทำให้บ้านเมืองสงบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่จะมีการนิรโทษกรรม นายบรรหาร กล่าวว่า ยังไม่มีความเห็น แต่คงไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ส่วนคดีการเมืองก็ไม่ทราบว่าขอบเขตจะไปถึงไหน แต่ต้องให้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามมันต้องมี ยามบ้านเมืองอย่างนี้จะเอาเรื่องนี้ไปกดอีกก็คงไม่ไหว ซึ่งถ้าทำได้ก็จะดีขึ้น ที่อยู่ใต้ดินก็ขึ้นอยู่บนดิน ไม่ใช่นั้นก็แอบอยู่ข้างหลังเรื่อยเป็นนอมินี เป็นตัวเชิด เมื่อถามว่าในช่วงนี้นายกฯกับรัฐมนตรีแต่ละคนจะไม่ปลอดภัย นายบรรหาร กล่าวว่า ก็ต้องใส่เสื้อเกราะ ตนไม่ได้ใส่เสื้อเกราะ แต่สมัยที่ตนเป็นนายกฯใส่เสื้อเกราะ เพราะมีคนจะลอบยิงตน เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย

"นายกฯ"ชี้ประชุม2สภาไม่ใช่เป็นการสร้างความขัดแย้ง

รายงานข่าวจากที่ประชุมครม.แจ้งว่า การประชุมครม.วันนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวกับครม.เกี่ยวกับการเปิดประชุมทั่วไปของรัฐสภาเพื่ออภิปรายโดยไม่ลงมติ เกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 26 มี.ค. - 14 เม.ย. ว่า ขอให้ครม.ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงเรื่องนี้กับรัฐสภา เวทีนี้จะใช้เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ใช้เวทีนี้ก่อปัญหาหรือเพิ่มความขัดแย้ง

รายงานข่าวจากที่ประชุมครม.กล่าวถึงกรณีที่ครม.เห็นชอบการจัดกิจกรรม ”เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงครบรอบปีที่ 60 แห่งการบรมราชาภิเษก”ในวันที่ 5 พ.ค.ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยนายอภิสิทธิ์ ได้สอบถามว่าประชาชนที่จะมาร่วมงานให้ใส่เสื้อสีอะไร กระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่าบางส่วนจะให้ใส่เสื้อสีน้ำเงิน จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวว่า ไม่อยากให้มีเรื่องสีเสื้อเข้ามาเกี่ยวข้อง อยากให้ประชาชนที่มาร่วมงานใส่เสื้อหลากสี ทั้งสีแดง สีน้ำเงิน สีเหลืองและสีต่างๆ และขอว่าอย่าทำอะไรที่ล่อแหลมและส่อเค้าความแตกแยก โดยที่กระทรวงมหาดไทยรับไปดำเนินการแล้ว

ภูมิใจไทยชง6ประเด็นแก้รธน.

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมพรรคภูมิใจไทย ถึงการแก้รัฐธรรมนูญ 50ว่า จุดยืนเดิมของพรรคในการแก้รัฐธรรมนูญมีอยู่ 6 ประเด็น คือ1 .ที่มาของส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 2.เรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งควรเปลี่ยนมาเป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เรื่องการลงนามระหว่างประเทศจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

4.การแก้ไขมาตรา 237 ให้ดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกับผู้กระทำการทุจริตเลือกตั้งเพียงคน เดียว 5. อำนาจของ ส.ส.หรือส.ว.เกี่ยวกับกรณีข้อห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นต้น และ 6. แก้ไข มาตรา 266 การใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส. - ส.ว. ซึ่งตอนนี้เป็นข้อจำกัดในการทำงานของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. - ส.ว. ที่บางครั้ง ส.ส.ออกไปเยี่ยมประชาชนพบปัญหาความเดือดร้อน แต่ ส.ส.ไม่สามารถไปประสานงานกับข้าราชการได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากประชุมพรรคเสร็จในวันนี้จะได้มติพรรคชัดเจนจากนั้น จะนำเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

“ ส่วนข้อเสนอการนิรโทษกรรม ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการออกกฎหมายให้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้ออกเพื่อคนส่วนร่วม ซึ่งเป็นหลักการที่ผมยึดถือ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรคจะมีความเห็นอย่างไรก็พร้อมจะยอมรับ ” นายบุญจงกล่าว

ส่วนกรณีนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ระบุ ให้นำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาใช้นั้น นายบุญจงกล่าวว่า คงต้องนำ รัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งก็มีข้อกำจัด มาเปรียบเทียบกันเพื่อเลือกข้อดีและข้อเสียมาเป็นส่วนประกอบแก้รัฐธรรมนูญ

"พงศ์เทพ"ชี้นิรโทษกรรมไม่ประเด็นหลักแก้ไขปัญหาสังคมไทย

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม ในฐานะโฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงกรณีที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญ และมีการเสนอนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคซึ่งถูกยุบพรรคว่า การแก้เรื่องนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องหลักในการแก้ปัญหาสังคมไทย แต่ปัญหาเกิดจากโครงสร้างรธน. ปี 2550 ที่อำนาจอธิปไตยอยู่กับศาลและองค์กรอิสระไม่ได้อยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น สำหรับคนไทยต้องคิดว่าการอยู่ร่วมกันอย่างไรจึงจะมีความสุข คนที่ควรได้ก็ควรได้เท่าที่ควรได้ ไม่ตกอยู่ในมือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“เวลานี้ควรเร่งเรื่องแก้ไข รัฐธรรมนูญ มากกว่าการนิรโทษกรรม อีกทั้งต้องจัดสรรอำนาจให้ถูกต้อง แม้ผมจะเป็น 1 ใน 111 อดีตกรรมการบริหารไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และแม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรม แต่ผมเห็นว่าปัญหาบ้านเมืองสำคัญกว่า ” นายพงศ์เทพ กล่าวและปฏิเสธว่า ยังไม่ได้ติดต่อกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เลยตั้งแต่มีการชุมนุมเสื้อแดง เพราะตนยุ่งกับการต่อสู้คดีนื้

ขณะที่นายนาม ยิ้มแย้ม ที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม และ อดีตประธาน คตส. ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงการเริ่มแก้รัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม โดยกล่าวสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งการเมืองเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

"พร้อมพงศ์"แจ้งจับ"เทพเทือก-หมอวรงค์"หมิ่น

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 21 เม.ย. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และกรรมการบริหารพรรคฯ พร้อมทนายความเดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ภิรม จันทราภิรมย์ รอง ผกก.สส.สน.ลุมพินี และ พ.ต.ท.สันติ มีศิริ พนักงานสอบสวน (สบ 3) สน.ลุมพินี เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายรัฐมนตรี ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยได้นำหลักฐานเป็นเอกสารลงข้อความเนื้อหาข่าวข้อความเรื่อง “แฉ พท.เตรียม 4 แผนล้มรัฐบาล” ที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ จำนวน 1 แผ่น และเอกสารอีกจำนวนหนึ่ง

ชมรมส.ส.ร50 ระบุแก้รธน.นักการเมืองได้ประโยชน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมส.ส.ร. 50 ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เม.ย.เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน โดยระบุว่า กรณีเกิดวิกฤตทางการเมืองช่วงระหว่างวันที่ 10 - 14 เม.ย. ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศ โดยเฉพาะในฐานะการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและคู่เจรจา จากนั้นเกิดกระแสการแก้วิกฤตดังกล่าวอย่างหลากหลาย ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯแสดงท่าทีเห็นด้วย แตกต่างไปจากท่าทีก่อนหน้านี้

ชมรมส.ส.ร. 50 มีมติ 6 ข้อ เพื่อประกอบการตัดสินใจของนายกฯ ได้แก่ 1.ชมรมมีความเห็นว่า เหตุวิกฤตการเมืองของประเทศ มิได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากความเห็นที่แตกต่างของกลุ่มบุคคลสองฝ่ายที่ต่างมีจุดยืนและยึด มั่นในตัวบุคคล ข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเพียงเรื่องที่ถูกหยิบยกเพื่อนำไปสู่การแก้ รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ทางคดีมากกว่า หากมีการแก้รัฐธรรมนูญก็จะเป็นการสมประโยชน์เฉพาะแต่นักการเมือง และพรรคการเมืองเท่านั้น 2.การแก้รัฐธรรมนูญจะยิ่งเป็นการจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเหมือนที่ผ่านมา ความวุ่นวายก็จะเกิดซ้ำอีก 3.ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ ต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งมาระดมความคิดในการปฏิรูปการเมือง ให้ได้ข้อยุติเสียก่อนแล้วจึงนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

4. กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรกระทำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเท่านั้น ประโยชน์ของประชาชนจะถูกละเลย 5.รัฐธรรมนูญ 50 ผ่านการทำประชามติจากประชาชน ซึ่งก่อนทำประชามติได้ส่งร่างไปให้พรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อมีส่วนร่วมในการ พิจารณาแล้วแต่ปรากฏว่า ไม่มีพรรคใดคัดค้าน การที่มีพรรคบางพรรคพยายามนำเสนอว่ารัฐธรรมนูญเป็นตัวสร้างปัญหา โดยเฉพาะมาตรา 237 จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง 6.หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่า สมควรแก้มาตราใด อย่างไร และท้ายสุดต้องทำประชามติจากประชาชน

ผบ.ตร.สั่งตั้งกก.สอบตร.ปล่อยม็อบล้มประชุมอาเซี่ยน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) - วันที่ 21 เมษายน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 166/2552 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีเกิดเหตุวุ่นวายที่ประชุมอาเซียนซัมมิท ที่โรงแรมรอยัล คริฟบีชรีสอร์ทเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน และเกิดเหตุการวุ่นวายในวันที่ 11 เมษายน จนต้องมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่ากรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเกิด จากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจผู้รับผิดชอบอย่างไร หรือไม่

อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญํติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 84 จึงตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง สืบสวนเรื่องดังกล่าวโดยมีพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ พล.ต.ท.วีระยุทธ สิทธิมาลิก ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ทำหน้าที่หัวหน้างานด้าน อำนวยการ)เป็นกรรมการ พล.ต.ต.สุรพล อยู่นุช ผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ พ.ต.อ.ชัยพร วรรณประภา รองผู้บังคับการกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ พ.ต.ท.วิญญู ฉายอรุณ สารวัตรงานคดีวินัยฝ่ายอำนวยการ 4 กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ พ.ต.ท.รณภพ มั่นวิเชียร สารวัตรกลุ่มงานนิติกรด้านสอบสวนและพิจารณาโทษ กองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้คณะกรรมการ สืบสวนดำเนินการืบสวนพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2547 ให้แล้วเสร็จ แล้วเสนอสำนวนสืบสวนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการ โดยให้รายงานผลการดำเนินการในเบื้องต้นภายใน 7 วันด้วยเพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีทราบ และให้ประธานกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการเพิ่มเติมตามความจำเป็น

หากคณะกรรมการสืบสวนเห็นว่ากรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยใน เรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้ หรือกรณีที่การสืบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการตำรวจผู้อื่นและคณะกรรมการสืบสวน พิจารณาในเบื้องต้นแล้วเห็นว่า ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำในเรื่องที่ สืบสวนนั้นอยู่ด้วย ให้ประธานกรรมการรายงานมาโดยเร็ว

ต่อมาเวลา 14.00 น.พล.ต.อ.ปทีปได้เรียกคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดประชุมเพื่อวาง กรอบแนวทางในการทำงาน โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง

พล.ต.อ.ปทีป กล่าภายหลังการประชุมว่า วันนี้เรียกประชุมเพื่อวางกรอบแนวทางในการทำงานทั้งหมด และจะทำการสืบสวนขอ้เท็จจริงไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฎและจะให้ความเป็นธรรม กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย

“ส.ส.ชลบุรีปชป.”อุ้ม“ผบช.ภ.2”ชี้เป็นแพะ

นายประมวล เอมเปีย ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. สั่งย้ายพล.ต.ท.อัศวิน ณรงค์พันธ์ ผบช.ภ.2 ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และย้ายพล.ต.ต.บัณฑิต คุณจักร์ ผู้บังคับการตำรวจ ภูธรจังหวัดชลบุรี ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า เป็นการเส้นเสื้อแดง แต่ถือว่าตำรวจทั้งสองเป็นแพะรับบาปในการประชุมอาเซี่ยน บวก 3 และ บวก 6 ที่ล่มไป เนื่องจากตำรวจทั้งสองคน ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลการชุมนุมของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ดังนั้นจึงไม่มีอำนาจในสั่งการใด ๆ

อีกทั้งพล.ต.ท.อัศวิน ก็เพิ่งจะย้ายมาเป็นผบช.ภ.2 เพียงแค่ 2 เดือน ขณะที่พล.ต.ต.บัณฑิต ก็เป็นคนในพื้นที่ และสามารถเข้ากับคนทุกกลุ่มได้ เนื่องจากมีความประนีประนอม ดังนั้นการสั่งย้ายดังกล่าวจึงไม่สามารถทำให้กลุ่มเสื้อแดงหมดไปจากชลบุรี ได้ ดังนั้นหากจะแก้ให้ถูกจุดผบ.ตร.ต้องมีคำสั่งย้ายตำรวจระดับล่างหลายสิบคนที่ อยู่ในพื้นที่ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดม็อบเสื้อแดงไปล้มการประชุมอาเซี่ยน

ครม.ไฟเขียวปรับโครงสร้างสตช.

นาย ศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบการปรับโครงสร้างส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แบ่งส่วนราชการและร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการตามที่สตช.เสนอ ซึ่งรายละเอียดของโครงสร้างแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่

1.ส่วนบัญชาการ ได้แก่ สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(สง.ผบ.ตร.) 2.ส่วนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ประกอบด้วยหน่วยงานระดับกองบัญชาการ 11 หน่วยงาน ได้แก่ กองบัญชาการ ตำรวจนครบาล(บช.น.) ตำรวจภูธรภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้(ศชต.) 3.ส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ประกอบด้วยหน่วยงานระดับกองบัญชาการ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

4.ส่วนการศึกษา ประกอบด้วยกองบัญชาการศึกษา และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 5.ส่วนบริการ ได้แก่โรงพยาบาลตำรวจ และ6. ส่วนปฏิบัติการเฉพาะทาง มีหน้าที่รับผิดชอบในการถวายความปลอดภัย และปฏิบัติงานตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ พระราชชินี พระรัชทายาทและพระบรมวงศานุวงศ์ จำนวน 1 หน่วยงาน คือ สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ

“สรุปแล้วสตช.มีหน่วยงานระดับกองบัญชาการหรือเทียบเท่า รวม 30 หน่วยงาน แบ่งเป็นหน่วยงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน 26 หน่วยและ หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 4 หน่วยงานได้แก่ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ , สำศุภชัย กล่าวต่อไปว่า นักงานส่งกำลังบำรุง , สำนักงานกำลังพล และ สำนักงานงบประมาณและการเงิน ” นายศุภชัย กล่าว

รองโฆษก ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุผลในการปรับโครงสร้างครั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจ ยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคต ด้วยความโปร่งใส อีกทั้งเป็นการจัดโครงสร้างส่วนราชการเพื่อให้เอื้อต่อการมอบอำนาจและการกระ จายอำนาจ ลดการควบคุมจากส่วนกลาง และเพิ่มอิสระแก่หน่วยงาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีเอกภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของส่วนราชการ ให้มีความชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน และจัดหน่วยงานที่ภารกิจสอดคล้อง สัมพันธ์กันมาอยู่ในกองบัญชาการเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในด้านต่างๆ ของสตช.ในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รองโฆษกฯ กล่าวถึงเหตุผลอีกว่า เป็นการกำหนดขนาดส่วนราชการให้กะทัดรัด คล่องตัว และเอื้ออำนวยต่อประสิทธิภาพในการบริหารงานให้เกิดประสิทธิผลโดยคำนึงถึง การจัดสายการบังคับบัญชาที่เหมาะสม จัดกลุ่มงานที่มีลักษณะเฉพาะด้าน ซึ่งมีคุณภาพสูงมากและมีปริมาณงานพอสมควร ให้รองรับได้ตามความจำเป็น และนอกจากนี้ยังจัดโครงสร้างให้มีความสัมพันธ์กันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้สามารถบูรณาการทำงาน ประหยัดทรัพยากร มีความรวดเร็วในการติดต่อประสานงานและการตัดสินใจ

“มีการจัดกลุ่มงานและแบ่งงานภายในหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสะดวกในการประสานการปฏิบัติ การควบคุม การพัฒนาบุคลากร การหมุนเวียน ถ่ายเทกำลังคนและการปฏิบัติงานทดแทนกันได้ ทั้งนี้การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการดังกล่าว จะใช้กรอบกำลังของสตช.เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการปรับเกลี่ยตำแหน่ง -อัตราให้เหมาะสมและจะไม่มีการเพิ่มตำแหน่ง-อัตราในภาพรวมแต่อย่างใด ” นายศุภชัย กล่าว

No comments:

Post a Comment