การออกมาส่งสัญญาณของ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี เปิดทางให้ทุกพรรคการเมืองเสนอประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แถมยังเปิดทางให้พ่วงเรื่อง "นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่กระทำผิดทางการเมือง" ได้ด้วย
ทำเอาบรรดา "นักการเมือง" ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย "ขานรับ" กันยกใหญ่ อ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะช่วยลดปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้ลงได้
ทั้งที่ปัญหาของบ้านเมืองที่กำลังวิกฤติ จนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เกิดจลาจล จนรัฐบาลต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงใน กทม.และปริมณฑลนั้น ชัดเจนว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ
แต่เกิดจาก "นักการเมือง" ที่แก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กันและเกิดจากความแตกของคนสองกลุ่ม ที่แบ่งเป็นสีเหลืองและสีแดง
อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมทางการเมืองเว้นวรรค 5 ปี นอกจากจะไม่ช่วยลดความขัดแย้งแล้ว ยังจะเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้นอีกด้วย
เพราะตอนนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างคนที่เอา "ระบอบทักษิณ" กับคนที่ไม่เอา "ระบอบทักษิณ"
ดังนั้น หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่ไม่เอา "ระบอบทักษิณ" จะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างรุนแรงแน่นอน
อย่างกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังจากมีการเคลื่อนไหวนิรโทษกรรมให้ แก่นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง "นายสุริยะใส กตะศิลา" ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรก็ออกมาบอกทันควันว่า ทางแกนนำกลุ่มพันธมิตรจะทำการประชุมกันเพื่อกำหนดท่าทีอย่างเป็นทางการใน เรื่องนี้ต่อไป
เนื่องจากหากมีแก้ไขรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมทางการ เมือง ผู้ที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ก็คือ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนรวมทั้งพรรคชาติไทยและ พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปีในคดียุบพรรคเพียง 120 คน เท่านั้น ซึ่งก็คือ นักการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มคนเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียวของประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้เลย
ดังนั้น ที่อ้างว่านิรโทษกรรมให้แก่นักการเมืองแล้วบ้านเมืองจะสงบจึงไม่จริง แถมยังส่งผลในทางตรงกันข้ามอีกด้วย
และหากมองใน "ทางการเมือง" หากมีการนิรโทษกรรมให้ แก่อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ก็เท่ากับ "ปล่อยเสือเข้าป่า-ปล่อยจระเข้ใหญ่ลงคลอง" ให้หวนคืนกลับสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง
ซึ่งก็เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ "ฆ่าตัวตาย" แท้ๆ เพราะหากมองย้อนไป พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ครั้งสุดท้ายในการเลือกตั้งเมื่อปี 2535 หลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" จากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกเลย ซึ่งนับเป็นเวลานานถึง 17 ปีแล้ว
อีกทั้งตอนนี้นายอภิสิทธิ์และ "รัฐบาลประชาธิปัตย์" กำลังได้คะแนนไปเต็มๆ จากการที่สามารถแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดจาก "คนเสื้อแดง" ลงได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่มีการสูญเสียมากและไม่มีผู้เสียชีวิต
แต่หากรัฐบาล ยอมให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ นักการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมือง "คะแนนเสียง" ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะหดหายไปหมด เพราะจะถูกประชาชนมองว่ารัฐบาลทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้นและทำลาย กระบวนการยุติธรรม ไม่เคารพคำตัดสินของศาลอีกด้วย
ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าที่นายอภิสิทธิ์ "จุดพลุ" เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง คงเป็นเพียงแค่ "เกมการเมือง" เพื่อลดการเผชิญหน้าและความตึงเครียดทางการเมืองในขณะนี้เท่านั้น
เพราะการเคลื่อนไหวของ "คนเสื้อแดง" และพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมา ก็เพื่อต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยรวมทั้งพรรคพลังประชาชนพ้นโทษจากคดี ซึ่งก็มีเรื่องที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองรวมอยู่ด้วย
ดังนั้นที่นายอภิสิทธิ์ เปิดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้ความหวัง พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง และเป็นการดึงการเคลื่อนไหว "นอกสภา" ให้เข้ามา "ในสภา"
อีกทั้งยังเป็นการลดแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งต้องการให้มีการนิรโทษกรรมทางการเมืองเช่นกันเพราะว่ามีแกนนำของพรรคหลายคนที่ต้อง "ติดชนัก" เว้นวรรคทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรค
"หมากเกมนี้" จึงเป็นเกมสร้างเสถียรภาพให้ตัวรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าที่จะทำจริง
และ "โจทย์" ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมทางการเมือง จะถูก "ลากยาว" อย่างแน่นอน
เพราะว่า รัฐบาลคงไม่อยากคิดสั้นและต้อง "ตายน้ำตื้น" กับเรื่องนี้
Wednesday, April 22, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment