สภา สูงป่วน โวยวิปวุฒิฯมัดมือชกเสนอชื่อ 7 ส.ว.เป็น กก.ปรองดอง ร้อนถึง “ประสพสุข” ต้องสั่งโล๊ะพร้อมนัด ส.ว.เลือกใหม่ ด้านประธานวิปรัฐบาลชี้กรอบเวลาทำงานของคณะกรรมการปรองดอง 15 วันน้อยไป แต่มั่นใจจะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ “เทพเทือก” ลั่นไม่ว่าผลสรุปออกมาอย่างไรรัฐบาลพร้อมทำตามข้อเสนอ “ปลาไหล” เตรียมเสนอแก้ 2 มาตรา “ชุมพล” ย้ำต้องคืนความเป็นธรรมให้กับคนที่ไม่ได้ทำผิด ส่วน “ภูมิใจไทย” เสนอแก้ 8 ประเด็น แนะทำประชามติก่อน ด้าน กกต.ยันไม่ได้มี 2 มาตรฐานช่วย “ประชาธิปัตย์” ชี้ทุกอย่างยึดตามกฎหมาย เผยสำนวนสอบเงินบริจาค ปชป. ถึงมือ กกต.ชุดใหญ่สัปดาห์นี้ ส่วนคดี “บุญจง”นัดพิจารณา 6 พ.ค. แย้มถ้าสรุปว่าผิดก็ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี
เงื่อนเวลา 15 วันน้อยไป
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่รัฐสภา นาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรม การแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อความปรองดองสมานฉันท์และแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่า คาดว่าแต่ละพรรคจะเสนอรายชื่อให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อแต่งตั้งตามข้อบังคับการประชุมได้ภายในวันที่ 29 เม.ย. สำหรับเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ 15 วันนั้น ส่วนตัวคิดว่าอาจดำเนินการไม่ครบถ้วนกระบวนการ จึงอยากให้คณะกรรมการไปกำหนดกรอบเวลาเพื่อรวบรวมประเด็นนำเสนอต่อรัฐสภา อย่างรอบคอบ และรับฟังความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง
เมื่อถามว่า ประธานรัฐสภาได้เสนอชื่อนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว นาย ชินวรณ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่พูดถึงตัวบุคคล แต่อย่างน้อยที่สุดตัวบุคคลที่จะเป็นประธานต้องได้รับการยอมรับจากสังคม สามารถดำเนินการไปตามเป้าหมายของการปรองดองและสมานฉันท์ เมื่อถามย้ำว่า นายเสนาะมีคุณสมบัติเหมาะสมพอหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ตนไม่อยากก้าวล่วง ให้คณะกรรมการไปคัดเลือกกันเอง
ควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเพียงกระบวนการที่ให้แต่ละพรรคไปรวบรวมประเด็น ทางพรรคก็จะหารือในที่ประชุม แต่มีข้อน่าสังเกตว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 34 หรือ 40 เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะที่ปี 50 ก็เปิดให้ทำประชามติ ซึ่งข้อสังเกตนี้จะเสนอต่อคณะกรรมการว่า หากจะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับจากสังคมก็ควรเปิดให้ประชาชนจากทุก ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
เมื่อถามว่า แกนนำกลุ่ม นปช.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว อยากให้ยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่มากกว่า นายชินวรณ์กล่าวว่า หากจะยุบสภาโดยไม่แก้ไขกฎกติกาที่เป็นปัญหาอยู่ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองได้ เมื่อยังไม่มีข้อยุติในเรื่องความปรองดองและสมานฉันท์ แม้มีการเลือกตั้งก็จะวุ่นวาย
“เทพเทือก”สัญญาพร้อมทำตาม
ต่อข้อถามว่า ฝ่ายค้านมองว่ารัฐบาล พยายามยื้อเวลา นายชินวรณ์กล่าวว่า วันนี้กระบวนการต่าง ๆ เดินหน้าไปพอสมควร จึงอยากเรียกร้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ร่วมมือกัน พูดคุยเพื่อหาทางออกให้ประเทศ เชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายก รัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่วิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา มีมติตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรีได้เคยเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ให้รัฐสภาโดยประธานรัฐสภาและวิป 3 ฝ่ายปรึกษา กำหนดประเด็นที่เห็นว่าสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวิธีที่นำไปสู่การแก้ไขแล้วนำมาเสนอในรัฐสภา ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร รัฐบาลพร้อมทำตามข้อเสนอเหล่านั้น เพราะเคารพเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาอยู่แล้ว
เห็นด้วย“ป๋าเหนาะ”เป็นประธาน
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเสนอให้นายเสนาะเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อความปรองดองสมานฉันท์และการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนเห็นด้วย เพราะนายเสนาะยึดแนวทางไม่ทะเลาะกับใคร ที่สำคัญคือกล้าพูดกล้าเตือนสติ ที่ผ่านมาเมื่อนายเสนาะ ไม่พอใจใคร ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ นายอภิสิทธิ์ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ท่านก็ด่ามาหมดแล้ว
“นายเสนาะรู้ทันเกมการเมืองดี ใครจะมาเล่นเกมด้วยคงยาก แต่หากไม่เป็นนายเสนาะอีกแนวทางคือควรให้เป็นฝ่ายวุฒิ แต่ วุฒิจะรู้ทันเกมการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตามคนของเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรเป็นประธาน เพราะจะซัดกันเอง” ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทยกล่าว
“เพื่อไทย”ตั้งข้อแม้ให้รัฐบาล
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคได้หารือถึงข้อเสนอของการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯ และที่ประชุมมีมติว่าจะเสนอให้สภา ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสืบสวนการสลายการชุมนุมวันที่ 13 เม.ย.เสียก่อน หากรัฐบาลปฏิเสธที่จะตั้งคณะกรรมการพิสูจน์ความจริง พรรคจะไม่เข้าร่วมอย่างเด็ดขาดในทุกเรื่อง ดังนั้นจึงยังไม่มีการหารือเรื่องรายชื่อตัวแทนพรรคที่จะส่งไปเป็นคณะ กรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมือง
“ปลาไหล”ลุยแก้ 2 มาตรา
อีกด้านหนึ่งที่ทำเนียบรัฐบาล นาย ชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคได้เตรียมเสนอให้แก้ไขบางมาตรา อาทิ ม.190, 237 เพราะเห็นว่า 2 มาตรานี้ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้ความเป็นธรรมกับคนที่ไม่ได้รับความเป็น ธรรม คนไม่ได้กระทำผิดต้องพ้นผิด ส่วนเรื่องคดีอาญานั้นไม่เกี่ยวทั้งสิ้นให้เป็นหน้าที่ของศาล
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจว่านักการเมืองทำเพื่อตัวเอง นายชุมพลกล่าวว่า ประชาชนเข้าใจแน่ว่าคนที่ไม่ได้ทำผิดแล้วจะให้รับโทษมันไม่ถูกต้อง คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐธรรมนูญ 50 ต้องได้รับความเป็นธรรมไม่มีอย่างอื่น ผู้สื่อข่าว ถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯระบุว่าเรื่องนี้ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนแต่ทำเพื่อนักการเมือง นายชุมพลกล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯต้องยอมรับความเป็นธรรม ถ้าไม่เห็นความเป็นธรรมคงไม่ถูกต้อง
ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายชัยเสนอให้นายเสนาะเป็นคนกลางในการปฏิรูป การเมือง นายชุมพลกล่าวว่า ทุกคนสามารถแสดงความเห็นกันได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าต้องใช้กรอบเวลานานแค่ไหน นายชุมพลกล่าวว่า ไม่สำคัญแล้วแต่ขั้นตอน เรื่องนี้ไม่เร่งรัด เมื่อถามว่า ควรต้องเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า เสร็จหรือไม่แล้วแต่กระบวนการ ถ้าสังคมเกิดกระแสไม่ยอมรับเราก็ถอยไปเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติบ้านเมือง
เมื่อถามว่า สุดท้ายต้องทำประชามติหรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า ไม่จำเป็น ประเด็นเดียวไปลงประชามติทำไม คราวที่แล้วฉบับ 50 ไปลงประชามติถึงได้มีปัญหา ชาวบ้านเขาไม่ รู้เรื่องทั้ง 299 มาตรา เมื่อถามว่า แล้วจะ เอาอะไรมาเป็นตัววัดว่าประชาชนยอมรับ นายชุมพลกล่าวว่า ทุกคนคือประชาชนเหมือนกัน นักการเมืองก็คือประชาชน
“เติ้ง”มั่นใจคลี่คลายวิกฤติได้
นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ต้องให้โอกาสคณะกรรมการได้หารือกันสักระยะว่าจะเป็นแนวแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ได้หรือไม่ ตนเห็นด้วยว่าปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ส่วนระยะเวลาถ้าหากเห็นว่า 15 วันน้อยไปก็สามารถต่อเวลาได้ เรื่องนี้ไม่ต้องเร่ง
“รัฐธรรมนูญมีปัญหาตรงไหนก็แก้ตรงนั้น ถ้าจะมีการนิรโทษกรรมคงไม่มีเรื่องคดีอาญา แต่จะมีเรื่องการเมืองมากกว่า” นายบรรหารกล่าวและว่า หากมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองอาจจะทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ ที่ถูกกดดันให้ระบายออกไปบ้าง คนอยู่ใต้ดินให้มาอยู่บนดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการปรองดองฯในสัดส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เสนอให้นายอรรคพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นกรรมการฯ
สำหรับคณะกรรมการแก้ปัญหาทางการเมืองฯในสัดส่วนของพรรคประชาราชนั้น ผู้สื่อ ข่าวรายงานว่า พรรคได้เสนอชื่อนายเสนาะเป็นตัวแทน
ภท.เสนอแก้รธน.8 ประเด็น
ด้าน น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงว่า พรรคมีจุดยืน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 8 ข้อ คือ 1.ต้องผ่านการทำประชามติในทุกประเด็น เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง 2.มาตรา 93-98 ที่มาของ ส.ส. ควรเป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว 3.มาตรา 111 และ 113 ที่มาของ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 4. มาตรา 265 การห้าม ส.ส.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง 5.มาตรา 190 การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
6.องค์กรอิสระของคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 206, 231, 243, 246, 252, 256 โดยให้คณะกรรมการสรรหาเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ในองค์กรอิสระต่าง ๆ เป็นจำนวน 2 เท่า แล้วนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อคัดสรร 7.มาตรา 237 ยุบพรรคการเมือง ควรลงโทษเฉพาะผู้กระทำผิดเท่านั้น ไม่ควรเกี่ยวข้องกับสมาชิก หรือกรรมการบริหารพรรค และ 8.มาตรา 239 การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยให้ กกต.ทำหน้าที่เพียงจัดเลือกตั้ง รวบรวมหลักฐานเท่านั้น ถ้าเห็นว่าทำผิดแล้วส่งฟ้องศาลพิจารณาให้ใบเหลือง ใบแดง
อ้อมแอ้มอุ้มนิรโทษกรรม
นายประกิจ พลเดช ประธานคณะ ทำงานพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคจะให้ความสำคัญ ในเรื่องการทำประชามติมากที่สุด ต้องไปถามประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศว่าเอาด้วยหรือไม่ในมาตราที่จะแก้ไข ส่วนประเด็นการยุบพรรค น่าจะเป็นเรื่องของใครทำผิดต้องรับผิดเฉพาะตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับสมาชิกหรือกรรมการบริหาร สำหรับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์และ แก้ไขรัฐธรรมนูญในสัดส่วนพรรค 2 คน คือ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรค และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคอื่นเสนอนิรโทษกรรมจะทำอย่างไร นายประกิจกล่าวว่า เราไม่ได้ปฏิเสธ แต่พรรคให้ 2 คนไปพิจารณา หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ต้องว่าไปตามนั้น พรรคจึงเสนอให้มีการทำประชามติก่อน
ปชป.เสนอ 8 คนเป็น กก.
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธาน วิปรัฐบาล เปิดเผยอีกครั้งว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ตัวบุคคลจำนวน 8 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ 1.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน 2.นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กรุงเทพฯ 3.นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน 4.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช 5.นาง ผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน 6.นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี 7.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง 8.นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรค กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมพรรคติดใจเรื่องขององค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ที่มีสัดส่วนภาคประชาชนน้อยมาก รวมถึงภาคของ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคการเมือง จึงอาจไม่มีความเป็นอิสระจากการเมือง ทั้งนี้ที่ประชุมได้ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีตัวแทนจากภาคประชาชนเพิ่ม
พผ.ใช้คนนอกกันครหา
นายไชยยศ จิรเมธากร ว่าที่เลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า พรรคได้ส่งรายชื่อเพื่อตั้งเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองฯคือ นายสุเทพ เจตนาการณ์กุล อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 และนายนภนิธิ สุริยะ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ในสัดส่วนโควตา ส.ส.ของพรรคจำนวน 1 คน พรรคไม่ประสงค์ ที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วม แต่ส่งผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปแทนโควตาเดิม
นพ.อลงกต มณีกาศ ว่าที่โฆษก พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงสาเหตุที่ตั้งคนนอก มาเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองว่า เป็นการป้องกันคำครหาว่าตั้ง ส.ส. ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ดังนั้นจึงใช้คนนอก
เสนอแก้ 4 มาตราปัญหา
นพ.อลงกตยังกล่าวถึงการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมมีมติกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นรายมาตรา เช่น มาตรา 190 มาตรา 237 และมาตรา 265-266 ส่วนการนิรโทษกรรม พรรคมีมติเห็นด้วย เพราะกฎหมายถูกบังคับใช้จนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองถูกยุบ และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ ทั้งที่ไม่ได้กระทำ ความผิด แต่ไม่เห็นด้วยหากจะให้มีการนิรโทษกรรมความผิดทางคดีอาญา
ส่วนข่าวนายชัยจะเสนอนายเสนาะเป็นหัวหน้าคณะกรรมการฯนั้น นพ.อลงกตกล่าวว่า ส่วนตัวยอมรับได้ เพราะเป็นบุคคลที่มีความสามารถตั้งใจในการทำงาน แต่เชื่อว่าคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ เช่นกัน
สภาสูงป่วนวิปวุฒิฯมัดมือชก
รายงานข่าวจากวุฒิสภาแจ้งว่า สำหรับการเสนอชื่อ ส.ส.และ ส.ว.เพื่อไปร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและ สมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ในสัดส่วนของ ส.ว.ต้องส่งชื่อจำนวน 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนไปเป็นกรรมการด้วยนั้น ปรากฏว่าไม่สามารถส่งชื่อได้ เนื่องจากมี ส.ว. บางส่วนไม่พอใจกรณีที่ตัวแทนวิปวุฒิฯ ที่เข้าประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย ได้เตรียมเสนอชื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ ส.ว. สรรหา นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เข้าไปเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า นายไพบูลย์ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.และเป็นตัวแทนวิปวุฒิฯที่ไปประชุมด้วย ได้ประกาศถอนตัว โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการเสนอชื่อไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ตัวแทนของ ส.ว.ทั้งหมด เพราะจะต้องได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการชุดนี้ เพราะมีธงแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะ
“ประสพสุข”ต้องสั่งโละ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อมีข่าวดังกล่าวออกไป ทำให้มี ส.ว.สอบถามไปยังนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา พร้อมต่อว่าทำไมรีบเร่งเสนอรายชื่อโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม วุฒิสภาก่อน จนในที่สุดนายประสพสุขต้องสั่งให้เลขาธิการวุฒิสภา นัด ส.ว. ทุกคนให้มาร่วมประชุมกับวิปวุฒิในวันที่ 29 เม.ย.เวลา 13.00 น. เพื่อเสนอชื่อบุคคลเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ส่วนรายชื่อเดิมทั้ง 7 คน ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ซึ่งจากคำสั่งดังกล่าวทำให้ ส.ว.อีกส่วนหนึ่งไม่พอใจว่า เหตุใดต้องทำเรื่องเล็กเป็น เรื่องใหญ่
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะมีการหารือกัน ตนเห็นว่าสามารถทำได้ แต่ควรที่จะคำนึงถึงผล ประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นหลัก หากมีประเด็นใดที่ต้องการหารือกับกกต.ก็พร้อมให้คำปรึกษา
กกต.ยันไม่มี 2 มาตรฐาน
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านโจมตีเรื่อง 2 มาตรฐานกรณีการสอบสวนเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ขอยืนยันว่าไม่มี 2 มาตรฐาน สำนวนที่ทางดีเอสไอส่งมาเป็นสำนวนการร้องเรียนกรณีความผิดต่อตลาดหลักทรัพย์ และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ไม่ได้เป็นกรณีความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
“ดีเอสไอแจ้งต่อ กกต.ว่าน่าจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต.ที่เราต้องตรวจสอบก่อน ดังนั้นต้องใช้เวลาในการตรวจสำนวน คาดว่าน่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ กกต. ได้ภายในสัปดาห์นี้ หากสรุปว่าอยู่ในอำนาจของ กกต. ก็น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนเรื่องนี้ต่อไป” เลขาธิการ กกต.กล่าว
แจงยึดกฎหมายเป็นหลัก
เมื่อถามว่า สังคมตั้งคำถามต่อ กกต. มากเรื่อง 2 มาตรฐาน เพราะคดีที่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์มักช้าเป็นพิเศษ นายสุทธิพลกล่าวว่า การวินิจฉัยสั่งการของ กกต.เป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อกฎหมาย ไม่ได้มี 2 มาตรฐาน เราเน้นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายและความเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการสอบสวนในคดีการแจกนามบัตรพร้อมเงินของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย นั้น เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสอบสวนที่ กกต. ตั้งขึ้นมาสอบสวนเสร็จแล้ว ตอนนี้ได้ทำบันทึกถึงประธาน กกต. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.
6 พ.ค.ชี้ชะตาคดี “บุญจง”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุม กกต.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้รับผลสรุปการสืบสวนสอบสวนจากคณะอนุกรรมการฯ กรณีนายบุญจงแจกเบี้ยยังชีพแนบนามบัตร และนัดพิจารณาในวันที่ 6 พ.ค.ที่จะถึงนี้
ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.กล่าวว่า คำร้องเรื่องนายบุญจงเป็นการร้องเรียนในความผิดเกี่ยวกับการแทรกแซงก้าวก่าย การทำหน้าที่ของข้าราชการประจำ หากสรุปว่านายบุญจงผิด ก็จะทำให้นายบุญจงสิ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรี โดยตามขั้นตอน กกต.จะต้องส่งเรื่องให้ประธานสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิ
ศาลเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง ขรก.8
อีกด้านหนึ่งที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการระดับ 8 ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7 สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ฟ้องปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.) ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีออกหลักเกณฑ์สรรหาและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ต่อศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่ทางปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งแต่งตั้งของนายเสริมศักดิ์ดังกล่าวเป็นการแต่งตั้งข้าราชการดำรง ตำแหน่งระดับ 8 รวม 18 ราย โดยเมื่อศาลปกครองมีคำสั่งว่ามี 3 รายที่แต่งตั้งอย่างถูกต้องทำให้เหลือข้าราชการระดับ 8 ที่ได้รับการแต่งตั้งไม่ชอบรวม 15 คน แต่ในจำนวนดังกล่าวมี 3 รายที่ปัจจุบันนี้ลาออกและย้ายไปสังกัดหน่วยราชการอื่น ทำให้เหลือข้าราชการที่มีปัญหาที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยต้องดำเนินการให้ถูก ต้องตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดรวม 12 ราย
“บัวแก้ว”เดินหน้าประชุมอาเซียน
ส่วนการเมืองอื่นนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ว่า กำลังประสานเรื่องวันของผู้นำทั้ง 16 ประเทศ และอยู่ระหว่างการศึกษาดูสถานที่ที่จะใช้จัดการประชุม แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่าจะเป็นที่ใด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล โดยในสัปดาห์นี้ก็จะรู้ผลว่าจะใช้สถานที่ใดจัดการประชุม และในสัปดาห์หน้าก็จะดำเนินการทาบทามและประสานกับประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประเทศต่าง ๆ คงไม่ได้สนใจว่าจะใช้สถานที่ใดจัดการประชุม แต่ต้องการความมั่นใจในเรื่อง มาตรการการรักษาความปลอดภัยมากกว่า.
Tuesday, April 28, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment