โพลล์ ระบุ ประชาชนส่วนใหญ่สะเทือนใจเห็นคนไทยแตกแยก อยากให้ดำเนินการกับทุกสีเท่าเทียมกันตามกฎหมาย หนุนให้คงพรก.ฉุกเฉิน อีกสองสัปดาห์
(22เม.ย.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ“เอแบคเรียลไทม์โพลล์” (Real-Time Survey) ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติ จากนั้นได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้ครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ ได้อย่างรวดเร็วฉับไวภายในระยะเวลาประมาณ 8 ชั่วโมงและประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง หัวอกตำรวจ-หัวใจประชาชนในท่ามกลางความขัดแย้งของคนสามสี กรณีศึกษาตัวอย่างข้าราชการตำรวจในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลจำนวน 429 นาย และประชาชนใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ปราจีนบุรี ระยอง กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรปราการ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ยะลา ตรัง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,763 ตัวอย่าง ในวันอังคารที่ 21 เมษายน 2552 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.8 ติดตามข่าวการชุมนุมประท้วงของกลุ่มประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา
เมื่อ สอบถามถึงความรู้สึกของประชาชน และความรู้สึกของข้าราชการตำรวจต่อความแตกแยกของกลุ่มประชาชนคนสามสี (แดง เหลือง และน้ำเงิน) โดยเปรียบเทียบกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.3 และข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7 ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดำเนินคดีกับทุกคนทุกฝ่ายที่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง และในทิศทางเดียวกันคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.7 และข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 รู้สึกสะเทือนใจที่เห็นคนไทยแตกแยก
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.5 และข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.1 อยากให้ผู้บังคับบัญชาเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชามาก ขึ้น และที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจกลับพบว่า สัดส่วนของข้าราชการตำรวจที่มองประชาชนทุกกลุ่มคือคนไทยด้วยกันทั้งนั้นมี มากกว่า สัดส่วนร้อยละของประชาชนทั่วไป คือข้าราชการตำรวจร้อยละ 75.9 ต่อประชาชนทั่วไป ร้อยละ 59.8 ที่มองประชาชนทุกกลุ่มคือคนไทยด้วยกันทั้งนั้น
ข้าราชการตำรวจร้อย ละ 57.9 และประชาชนร้อยละ 48.8 มองว่า ตำรวจเหน็ดเหนื่อยที่ต้องปฏิบัติหน้าที่หลายภารกิจในเวลาเดียวกันทั้งดูแล ฝูงชน ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนทั่วไป และชีวิตส่วนตัวของข้าราชการตำรวจเอง นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 48.3 และข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 รู้สึกว่า ถ้าตำรวจควบคุมฝูงชนได้ดี ก็เสมอตัว แต่ถ้าผิดพลาด ก็ตกเป็น “จำเลย” ของสังคมจากเหตุวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมา
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.5 และประชาชนร้อยละ 44.3 อยากให้ประชาชนเห็นใจ เข้าใจ การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการควบคุมฝูงชน อย่างไรก็ตาม ตำรวจร้อยละ 34.2 และประชาชนร้อยละ 37.0 รู้สึกว่าตำรวจมีความเสี่ยงสูง ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของตนเองในขณะควบคุมฝูงชน
เมื่อ สอบถามข้าราชการตำรวจ ถึงความเป็นมาตรฐานสากลของการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.7 คิดว่าทำไปตามมาตรฐานสากลแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 40.3 คิดว่ายังไม่ได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ข้าราชการตำรวจยังได้ระบุภารกิจอื่นๆ ในการบริการประชาชน และต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนในช่วงเวลาต่อเนื่องกัน คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.1 ออกตรวจตราดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปในท้องที่รับ ผิดชอบของสถานีตำรวจ รองลงมากคือร้อยละ 37.7 ทำงานธุรการในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ร้อยละ 34.1 รับแจ้งเหตุ ร้อยละ 25.8 อำนวยความสะดวกด้านจราจร ร้อยละ 24.2 ติดตามจับกุมคนร้ายในคดีต่างๆ และร้อยละ 23.2 สอบสวนทำสำนวนคดีความต่างๆ ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.8 ของข้าราชการตำรวจที่ถูกศึกษาได้รับความเดือดร้อนมาก ถึงมากที่สุดในชีวิตส่วนตัวและครอบครัวตำรวจที่เป็นผลกระทบจากการชุมนุม ประท้วงของกลุ่มประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 7.5 เดือดร้อนระดับปานกลาง และร้อยละ 15.8 เดือดร้อนน้อย ถึงไม่เดือดร้อนเลย โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยความเดือดร้อนของข้าราชการตำรวจอยู่ที่ 6.97 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
เมื่อถามถึงภารกิจของตำรวจที่ต้องปฏิบัติ เพื่อประชาชนคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุม ที่เกิดปัญหาอุปสรรคเมื่อมีเหตุชุมนุมประท้วงเกิดขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.3 ระบุการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนอื่นๆ ได้รับผลกระทบ รองลงมาคือร้อยละ 37.4 ระบุงานธุรการในราชการตำรวจ ร้อยละ 29.1 ระบุการติดตามจับกุมคนร้ายในคดีความต่างๆ ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 27.3 ระบุการอำนวยความสะดวกด้านจราจรได้รับผลกระทบ ร้อยละ 27.0 ระบุการรับแจ้งเหตุได้รับผลกระทบ และร้อยละ 21.1 ระบุเป็นการสอบสวนคดีความต่างๆ ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมประท้วงของประชาชน
ที่น่าพิจารณาคือ ข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.5 คิดว่าจะดำเนินการตามแนวทางแก้ปัญหาการชุมนุมประท้วงของประชาชนตามแนวทาง เดียวกันกับ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ทุกประการ ในขณะที่ร้อยละ 24.5 เห็นแตกต่างไป เช่น จะจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมเด็ดขาด / จะตั้งหน่วยปราบจลาจลขึ้นมาโดยเฉพาะ / ใช้มาตรการที่เข้มแข็งกว่านี้ / ตั้งจุดสกัดอย่างเข้มแข็ง / สลายการชุมนุม/ ปกป้องผู้ประท้วงไม่ให้ทหารใช้ความรุนแรง / ร่วมมือกับกองทัพอย่างเหนียวแน่นกว่านี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.9 และประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.7 รู้สึกเห็นใจมากถึงมากที่สุดต่อ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ในการวางตัวแก้ปัญหาขัดแย้งแตกแยกของประชาชนคนสามสีในขณะนี้ โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยความเห็นใจของกลุ่มประชาชนทั่วไปต่อผู้บัญชาการตำรวจ แห่งชาติอยู่ที่ 6.71 และคะแนนเฉลี่ยความเห็นใจของข้าราชการตำรวจต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่ ที่ 7.16 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ที่น่าพิจารณาคือ ผลการประเมินความพอใจของประชาชน เปรียบเทียบกับความพอใจของข้าราชการตำรวจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจใน สถานการณ์ขัดแย้งของกลุ่มผู้ชุมนุมสีต่างๆ พบว่า ประชาชนร้อยละ 46.9 พอใจมาก ร้อยละ 19.9 พอใจมากที่สุด ในขณะที่ข้าราชการตำรวจร้อยละ 61.9 พอใจมาก และร้อยละ 23.6 พอใจมากที่สุด (พิจารณารายละเอียดในตารางแนบท้าย)
ประเด็น สำคัญสุดท้ายคือ เมื่อถามถึงการใช้ หรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.1 อยากมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีกระยะหนึ่งก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณสองสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 34.9 อยากให้ยกเลิกทันที อย่างไรก็ตาม ข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.9 กลับอยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที ในขณะที่ร้อยละ 33.1 อยากให้รออีกระยะหนึ่งก่อน
ผอ. เอแบคโพลล์ กล่าวว่า หัวอกตำรวจและหัวใจประชาชนมีหลายความรู้สึกที่เป็นจุดร่วมกันในสถานการณ์ขัด แย้งทางการเมือง โดยเฉพาะความต้องการให้ดำเนินการกับทุกคนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมาย บ้านเมือง และรู้สึกสะเทือนใจเมื่อเห็นคนไทยแตกแยก ผลสำรวจครั้งนี้มีข้อมูลในทางบวกที่สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนและข้าราชการตำรวจมีความเห็นอกเห็นใจต่อกันและกันในระดับที่มากพอ สมควรจนอาจกล่าวได้ว่า ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา ยังคงมีความดีความเข้าอกเข้าใจต่อกันเกิดขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่น่าพิจารณาคือ ทุกฝ่ายควรส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจเกื้อกูลกันบนพื้นฐานของความถูกต้องเป็น ธรรมในสังคมให้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจำเป็นต้องเร่งแสดงผลงาน สร้างความประทับใจในหมู่ประชาชนด้วยการระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วประเทศ ครั้งใหญ่ ส่งสายตรวจดูแลความปลอดภัยในชุมชนให้ถี่มากขึ้น ชดเชยการดูแลรักษา ความปลอดภัยในระดับชุมชนที่ขาดหายไปช่วงการชุมนุมประท้วงของประชาชน และดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง
Wednesday, April 22, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment