ท่าจะแท้งซะแล้ว กับแนวทางการตั้งกรรมการปรองดอง สมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการแก้ไขปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองผ่านระบบรัฐสภา
แม้จะมีความพยายามระดมความเห็น สร้างภาพ ส่งตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล สภาสูงหารือแก้วิกฤติบ้านเมือง
สุดท้ายก็มาลงตัวด้วยมติตั้ง "คณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ"
แม้จะมีการวาดภาพความเป็นไปได้แบบสวยหรู โดยเฉพาะองค์ประกอบของคณะกรรมการ ที่ต้องมาจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเป็นอิสระ-เป็นกลาง ซึ่งมาจากส.ส.และส.ว. 30 คนและผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน
มีภารกิจ 4 อย่างคือ 1.เสริมสร้างและรักษาความสงบในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 2.รับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน 3.พิจารณาระบบกฎหมายทั้งหมดโดยต้องเชื่อมโยงถึงความถูกต้อง คงความเป็นนิติรัฐ รักษานิติธรรม 4.พิจารณาสาระการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ดูเหมือนบรรดา "คอการเมือง" ออกมาส่ายหน้ากันเป็นแถว !
รับไม่ได้กับคณะกรรมการกลางที่จะตั้งขึ้นมาจะกลายเป็นการ "ยื้อเวลา" แก้ไม่ตรงจุด
สุดท้ายจะกลายเป็นการเล่นปาหี่ ไม่รู้ว่ามุ่งสร้างความปรองดองของชาติ หรือของนักการเมืองกันแน่
อัตราส่วน 3 ต่อ 1 ระหว่างนักการเมืองกับผู้ทรงคุณวุฒิ จะสร้างสมานฉันท์ได้จริงหรือ !!!!
หรือจะถูกกลืน ไหลตามน้ำ หากผลประโยชน์หวานหมู
หากดูรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมืองคัดสรรและเตรียมพร้อมเสนอเข้ามาเป็นกรรมการปรองดองฯ ล้วนเรียกได้ว่า
“เขี้ยวลากดิน” ทั้งสิ้น
ซ้ำดูเหมือนเวลานี้กระแสเสียงจากฝ่ายนักการเมือง ดูเหมือนจะไม่อยู่กับร่องกับรอย ขัดแข้ง ขัดขากันเอง ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะเมื่อ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ที่ออกมาโยนระเบิดลูกใหญ่ กลางที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์
"องค์ประกอบของคณะกรรมการทั้ง 40 คนเป็นองค์ประกอบที่พิกลพิการ ทั้ง 40 มาจากภาคการเมืองล้วนๆ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คนก็มาจากการเสนอของพรรคการเมืองอยู่ดี แนวทางนี้จึงไม่ใช่ทางออกของชาติแต่เป็นการแก้ไขปัญหาของนักการเมือง”
ขณะที่ "พรรคเพื่อไทย" เองก็เมิน เล่นแง่ ต่อรอง ไม่ส่งคนร่วมเป็นกรรมการปรองดองและสมานฉันท์เด็ดขาด หากรัฐบาลไม่ผลักดันตั้งกมธ.วิสามัญสอบสลายม็อบ แถมขู่จะเดินหน้าฟ้องยูเอ็น-กรรมการสิทธิฯ-ป.ป.ช.
ด้าน "สภาสูง" ก็ป่วนหนัก
เมื่อส.ว.กลุ่ม 40 เดินหน้าบีบไม่เอา 7 รายชื่อเดิม เพราะเชื่อว่าเป็นคนสายพรรคเพื่อไทย ทำเอา “ประสพสุข บุญเดช” ประธานวุฒิสภา อยู่ไม่ได้ ต้องส่งข้อความสั้นไปยังส.ว.ทุกคนเพื่อให้ร่วมประชุมกับวิปวุฒิสภาใหม่
แม้พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา จะรีบอ้าแขนรับกับข้อเสนอ ซ้ำรีบรวบรวมประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ชงเรื่องส่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ“ กันแบบปัจจุบันทันด่วน
พุ่งเป้าไปที่ประเด็นส่วนตัวทั้งสิ้น !!!
ไม่ว่าจะเป็น เรื่องที่มาของส.ส. การสรรหาองค์กรอิสระ โดยเฉพาะประเด็นยุบพรรค-นิรโทษกรรม ที่มีเสียงตอบรับกันแบบเกรียวกราว
งานนี้เล่นเอาคนในพรรคประชาธิปัตย์ถึงกับกระอักกระอ่วน แทบจะกัดลิ้นตัวเอง
เพราะหากมีการแก้รัฐธรรมนูญ-นิรโทษกรรมการเมืองกว่า 200 ชีวิต คืนชีพระบอบทักษิณอีกครั้ง เกรงจะพรรคจะถูกโดดเดี่ยว-เล็กลง
เท่ากับเป็นการ "ฆ่าพรรค" ทางอ้อม
อย่าลืมว่า แม้จะมีการประเมิน วิเคราะห์จากผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ ถึงผลร้ายที่จะตามมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ก็ใช่ว่า คณะกรรมการปรองดองฯ จะตั้งขึ้นง่ายๆ ต้องมีการประลองกำลังกันอีกหลายเวที ซึ่ง “มาร์ค-เทพเทือก” ต่างมองเกมนี้ออกทั้งสิ้น
แม้ในอีกด้านหนึ่งดูเหมือนรัฐบาลจะจริงใจในการแก้ปัญหา เร่งตั้งคณะกรรมการฯ ให้เสร็จภายใน 15 วัน ก็ตาม
แต่เอาเข้าจริงทางออกที่ว่านี้ "ไม่" สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน !
เพราะจากอดีตที่ผ่านไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของ “สมัคร สุนทรเวช” และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ที่พยายามเสนอรูปแบบคณะกรรมการต่างๆ แต่สุดท้ายก็ต้องล่มไม่เป็นท่า
เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ครั้งหลังสุดนี้ ที่เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เสนอออปชั่นแก้ไขวิกฤติของบ้านเมืองผ่านคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง โดยยืมมือสถาบันพระปกเกล้า เป็นหัวหอกสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สุดท้ายก็ต้อง "ม้วนเสื่อกลับบ้าน"
นั่นเป็นเพราะว่าแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องผลประโยชน์ของนักการเมือง ที่คิดเอง เออเอง แสวงหาทางออกให้ตัวเอง เป้าหมายเพื่อำนาจและเงินตรา
ไม่ได้เป็นแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
กระนั้นหากรัฐบาลชุดนี้ทนแรงบีบของพรรคร่วมไม่ไหว สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตของรัฐบาล !
Wednesday, April 29, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment