Wednesday, April 29, 2009

'เพื่อไทย'เลิกงอแงส่งรายชื่อ กก.ปรองดองแล้ว

'ครูประทีป'ร่วมด้วยบัญญัติแนะยุบสภาหลังแก้ไข รธน.เสร็จ

"บัญญัติ"แสดงจุดยืนค้านแก้ รธน.ดักคอ กก.ปรองดอง มีแต่นักการเมืองหวั่นสังคมด่าทำเพื่อตัวเอง-เย้ยคำตัดสินศาล พร้อมแนะแก้เสร็จให้ “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ ขณะที่ “เทพเทือก” ปฏิเสธอุตลุด “ปชป.” ไม่กระเพื่อม อ้างไม่มีคนขวางแนวคิดหัวหน้ามาร์ค ส่วน “อภิสิทธิ์” โยน “ปู่ชัย” แก้เกม “เพื่อไทย” ต่อรอง ด้าน “เพื่อไทย” เลิกงอแงส่งรายชื่อ “กก.ปรองดอง” แล้ว อ้าง “มาร์ค-ปู่ชัย” ยอมตั้ง “กก.สอบสลายเสื้อแดง” แย้มมีชื่อ “ครูประทีป” ด้วย ส่วนฝ่าย ก.ม. จุดพลุ “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” หาแนวร่วม ฟาก “สภาสูง” ขีดเส้นให้ ส.ว. ส่งชื่อภายในเที่ยงนี้ เล็งเลือก กก. สิทธิมนุษยชน 1 พ.ค. เผย 7 ว่าที่ “ดี-เด่น-ดัง”

“มาร์ค”โยน“ปู่ชัย”แก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคเพื่อไทยตั้งเงื่อนไขให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบ การสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง จากนั้นจึงจะยอมเสนอชื่อกรรมการแก้ไข ปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมาน ฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมติของที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า วันที่วิป 3 ฝ่ายตกลงกันนั้น วิปฝ่ายค้านก็เข้าร่วมประชุมอยู่ด้วยจึงไม่ทราบว่าในส่วนของวิปฝ่ายค้านและ พรรคเพื่อไทยมีปัญหาอะไรกัน หากมีปัญหาก็อยากเสนอให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุม และรับฟังปัญหาข้อขัดข้อง

นายกฯ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าขณะนี้ทุกคนต้องการให้มีเวทีที่ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมแก้ไขกันจริง ๆ และรัฐบาลไม่ได้มีการยื่นเงื่อนไขอะไรหรือมีปัญหา แต่เท่าที่ฟังการหารือในวันนั้นได้มีการตกลงกันเองว่าจะไม่มีการตั้งคณะกร รมาธิการฯ และยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาและพร้อมให้ตรวจสอบติดตามได้ทุกเรื่อง

ยันทุกเงื่อนไขต้องเป็น “ปชต.”

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาทางการ เมืองครั้งนี้ สอดคล้องกับสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกาศที่จะต่อสู้ต่อไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ในวันที่มีการอภิปรายทั่วไปทางวิปและ ส.ส.หลายคนได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการและตนคิดว่า สังคมต้องการให้ทุกคนทำเช่นกัน เพราะฉะนั้นประธานสภาจะต้องทำเต็มที่เพื่อให้ทุกอย่างเดินได้ วันนี้เราต้องเอาเป้าหมายของประเทศเป็นที่ตั้ง หากข้อเรียกร้องที่พูดกันมาตลอดเป็นเรื่องของประชาธิปไตยก็ไม่มีใครขัดข้อง ในเรื่องของหลักการจึงน่าจะมาทำงานร่วมกันได้ก็เป็นทางที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นอย่างอื่นก็แสดงว่าข้อเรียกร้องไม่ใช่ประชาธิปไตยและไม่ใช่เรื่อง ที่คนส่วนใหญ่สนับสนุน

“เทือก”ปัด“ชวน-หยัด”ค้าน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากเกรงว่าจะนำไปสู่การนิรโทษ กรรมว่า ยืนยันว่าที่มีข่าวว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และนายบัญญัติไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องจริง เพราะในพรรคมีการประชุมระดมความคิดกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีความคิดที่หลากหลาย แต่เมื่อได้แสดงความคิดเห็นแล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่าทุกคนเห็นว่าจะเดินตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัว หน้าพรรคเสนอต่อรัฐสภา และที่ประชุมพรรค วันที่ 28 เม.ย. ก็ได้ขอให้นายบัญญัติเป็นประธานคัดเลือกตัวแทนพรรค 8 คน ไปร่วมเป็นกรรมการตามมติวิป 3 ฝ่าย

หงุดหงิดคำถามข้ามหัวผู้ใหญ่

ต่อข้อถามว่า การที่มีเสียงท้วงติงจากผู้ใหญ่ในพรรค เพราะเกรงว่าหากปลดล็อกแล้ว อดีตกรรมการบริหารจะไปรวมตัวกันอีกครั้ง และ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกโดดเดี่ยว เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธว่าไม่ได้ยินนายบัญญัติพูดถึงเรื่องนี้ เมื่อถามว่าสมาชิกพรรคบางคนไม่สบายใจกับการทำงานของนายกฯ ที่ดูเหมือนจะ ข้ามหัวผู้ใหญ่ในพรรค นายสุเทพ กล่าวด้วย น้ำเสียงหงุดหงิดว่า “ถามแบบนี้ก็ไม่จบ ถ้าผมตอบขนาดนี้แล้วยังมีบางคนไม่สบายใจ ก็ไม่จบ”

เมื่อถามย้ำว่า มีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เตรียมวางตัวนายบัญญัติ ไปเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อความปรองดองและสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่ให้นายบัญญัติ เป็นประธานคัดเลือกตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นกรรมการในชุดดังกล่าวเท่านั้น

“บัญญัติ”ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วย

ขณะที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัม ภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนเข้าร่วมเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะเคยคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่รู้สึกเป็นห่วงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เพราะมีแต่ฝ่ายการเมือง จะมองได้ว่าไปครอบงำการตัดสินของคณะกรรมการฯ

ส่วนประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมืองนั้น กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถือว่าเปราะบาง จึงได้ฝากผู้ที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมการว่าต้องระมัดระวังด้วย เราไม่ต้องการจะกีดกันใคร หรือกลัวว่าใครจะกลับเข้ามาแล้วจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีปัญหา เพราะมีคนดี ๆ เยอะ แม้จะมี ส.ส.บางส่วนรู้สึกกังวลในหลายเรื่อง แต่ถือเป็นเรื่องปกติ

หวั่นสังคมวิพากษ์ไม่เคารพศาล

นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าคนข้างนอกจะวิจารณ์ได้ว่าเป็นการไม่เคารพ กฎหมายหรือไม่ เพราะทุกคนรู้มาก่อนแล้วว่ามีกฎหมายห้ามเอาไว้แต่ก็ไปทำผิด แล้วจะมาแก้กฎหมายก็จะเป็นปัญหาได้ และคนอาจมองได้ว่าไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลรัฐธรรมนูญซึ่งสูงกว่าศาลธรรมดาทั่วไปได้วินิจฉัยแล้ว ดังนั้นหลักใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์คือ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ไขเฉพาะในบทมาตราที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ ถ้าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวนักการเมืองก็ควรเป็นเรื่องที่กระทบต่อระบบ ของนักการเมืองโดยรวม ไม่ใช่เป็นกลุ่มนักการเมือง ส่วนเรื่องยุบพรรคการเมือง หากจะแก้ไขปัญหาการทุจริตเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องมีธรรมาภิบาล ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ถ้าจะทำให้ยาแรงอ่อนลงก็ต้องช่วยคิดหามาตร การอื่นที่จะป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงด้วย

แนะยุบสภาหลังแก้“รธน.”เสร็จ

นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า นายกฯ ทำถูกแล้วที่ต้องหยิบรัฐธรรมนูญขึ้นมาดูว่าเป็นปัญหาตามที่หลายฝ่ายพูดจริง หรือไม่ แต่คณะกรรมการฯ ต้องทำให้สังคมข้างนอกเข้าใจว่านักการเมืองไม่ได้สมานฉันท์กันเอง มิฉะนั้นจะเป็นเรื่องอันตราย ต้องระวังว่านักการเมืองแก้รัฐธรรมนูญ โดยนักการเมือง เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง

นายบัญญัติ กล่าวด้วยว่า อยากเสนอให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการ คือ 1.ตั้งคณะอนุกรรมการในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ สร้างความเข้าใจในค่านิยมประชาธิปไตยที่ถูกต้องให้กับประชาชน 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรดูมาตราที่กระทบต่อประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่เรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของนักการเมืองล้วน ๆ 3.ขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริง ๆ และ 4.ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน เมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว โดยที่ทุกภาคส่วนเห็นด้วย หากบรรยากาศทางการเมืองไม่มีอะไรติดขัดก็ควรจะมีการยุบสภาแล้วให้มีการเลือก ตั้งใหม่

มท.1 ไม่ขวาง“เหนาะ”นั่ง ปธ.

ที่กระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีมีผู้เสนอให้นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยว่า ยังไม่รู้รายละเอียด แต่เห็นว่านายเสนาะเป็นนักการเมืองเก่า มีคุณสมบัติโดดเด่น ผ่านชีวิตการเมืองมานาน คงจะรู้ประวัติการเมืองไทยเป็นอย่างไรมาบ้าง ขณะเดียวกันควรให้มีคณะบุคคลทางวิชาการเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย เข้ามาร่วมให้ความคิดเห็นจะใช้ประสบการณ์อย่างเดียวคงไม่พอ อย่างไรก็ตามคิดว่านายเสนาะก็คงเป็นได้ เพราะมีบารมี ทั้งนี้ใครมีความเหมาะสมที่จะมาเป็นตัวกลางในการแก้ไขก็กำลังมองอยู่

เมื่อถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พรรคภูมิใจไทยไม่เสนอเรื่องนิรโทษกรรม เพราะกลัวจะถูกโจมตี จึงต้องการให้พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอแทน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ ส่วนจะต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นคงต้องฟังพรรค ประชาธิปัตย์ว่าอย่างไรแล้วค่อยมาพิจารณา

วิปรัฐบาลอัดฝ่ายค้านเลิกป่วน

ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า วิปพรรคร่วมรัฐบาลได้นำรายชื่อผู้จะร่วมเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อความปรองดองและสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเสนอแล้ว ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภาจะเสนอมานั้น ตนรับเป็นผู้ตรวจสอบรายชื่อเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการทาบทามตัวบุคคลและเสนอรายชื่อให้ประธานรัฐสภา ทำการแต่งตั้งต่อไป

เมื่อถามว่า โฆษกพรรคเพื่อไทยยืนยันให้ตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบเหตุการสลายการชุมนุมก่อนจึงจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการฯ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในวันประชุมวิป 3 ฝ่าย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอว่าไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการสลายการชุมนุมโดยให้ เหตุผลว่าขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันอย่างกว้างขวางแล้ว จึงขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยส่งรายชื่อภายในวันที่ 29 เม.ย. หากไม่ยอมเสนอมา วิปของพรรคเพื่อไทยที่เป็น ส.ส. จะต้องรับผิดชอบ

“พท.”ลั่นต้องยื่นหมูยื่นแมว

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีมติเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการสลายการชุมนุม เสื้อแดง โดยจะขอใช้เวทีของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 30 เม.ย. เพื่อให้ตั้ง กมธ. วิสามัญตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อน ส่วนการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคยังคงสนับสนุนแนวทางดังกล่าว และได้เตรียมรายชื่อไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะส่งรายชื่อต่อประธาน หลังการตั้ง กมธ.

นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้มีการแก้ไข ดังนี้ 1.แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 2.ประเด็นการเลือกตั้ง ที่มาของ ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 3.การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 4.การทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ 5.อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของ ศาล นอกจากนี้จะขอแก้ไขมาตรา 171 โดยให้เพิ่มข้อห้าม ไม่ให้ ครม.ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีด้วย รวมไปถึงการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ อย่างไรก็ตามในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ไม่มีการขอแก้ไข

ยอมถอยอ้าง “มาร์ค” ไฟเขียว

นายวิทยา ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า พรรคเพื่อไทยจะขอให้ประธานรัฐสภาใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการสลาย การชุมนุมระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย. เช่นเดียวกับการตั้ง คณะกรรมการแก้ปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์และแก้ไข รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้เห็นชอบ เรียบร้อยแล้ว แต่นายชัยต้องการให้เรื่องนี้เป็นมติของที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายก่อน เรื่องนี้จึงไม่มีปัญหาอะไรและจบลงด้วยดี ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยื่นญัตติขอตั้ง กมธ.วิสามัญในเรื่องดังกล่าวอีกแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า รายชื่อคณะกรรมการตรวจสอบการสลายกลุ่มเสื้อแดงที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอ ได้แก่ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ประธาน คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการ ชุมนุมของพรรคเพื่อไทย นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แกนนำ นปช.รุ่น 2 และ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย

เผย 12 รายชื่อสัดส่วน “เพื่อไทย”

ข่าวแจ้งว่า นายวิทยาได้ส่งรายชื่อกรรมการแก้ปัญหาทางการเมืองฯ ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทยทั้ง 12 คนแล้ว ประกอบด้วย 1.นายวิทยา บุรณศิริ 2.นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา 3.นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ 4.นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร 5.นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส. นครพนม 6.นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน 7.นายนพคุณ รัฐผไท ส.ส.เชียงใหม่ 8.นายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภาเภสัชกรรม 9.นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 10.นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 11.นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. และ 12.นายประยุทธ์ ศิริพานิช ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

สภาสูงให้ ส.ว. สมัครเป็นตัวแทน

บ่ายวันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ว. และคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมเพื่อเลือกตัวแทน ส.ว. 7 คน และเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ไปเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์และ แก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิ สภา สั่งยกเลิกรายชื่อ 7 ส.ว. ที่วิปวุฒิเตรียมเสนอไปยังประธานรัฐสภา

นายนิคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้ ส.ว. ที่ต้องการเป็นตัวแทนของวุฒิสภา ให้สมัครได้ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาภายในวันที่ 30 เม.ย. เวลา 12.00 น. นอกจากนี้ส.ว.สามารถเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวภายในวัน เดียวกัน จากนั้นจะมีการลงคะแนนในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 1 พ.ค. ทั้งนี้จะเสนอให้ตัดคำว่า “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ออกจากชื่อคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อไม่ให้สังคมรู้สึกว่ามีการตั้งธง

7 ว่าที่ “กสม.” แสดงวิสัยทัศน์

ขณะเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรง ตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมีนายธีระจิตต์ สถิโรตมวงศ์ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คนได้เข้าชี้แจงข้อกล่าวหา รวมทั้งเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์คนละไม่เกิน 5 นาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแสดงวิสัยทัศน์ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อได้ชี้แจงถึงประสบการณ์ในการ ทำงาน ที่มีความเกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิมนุษยชน เหตุผลที่สนใจในงานด้านสิทธิมนุษยชน และต้องการเข้ามาดูแลงานด้านการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขณะที่ กมธ.ฯ ได้ให้แต่ละคนได้แสดงทรรศนะในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษย ชน อาทิ การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เหตุการณ์ที่กรือ ซะและตากใบ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คดีนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นต้น

ดีเดย์ 1 พ.ค. วุฒิสภาลงมติเลือก

นายธีระจิตต์ กล่าวว่า เท่าที่รับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมีคุณวุฒิและประสบการณ์ในการทำงานมากมาย ถ้ามีความตั้งใจก็คงทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ส.ว.ได้ติงผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อบางคนไม่เคยเกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิ มนุษยชนมาก่อน อาจทำให้เลือก กสม. ไม่ครบ 7 คนนั้น ตนเห็นว่า อย่าทึกทักเช่นนั้น เพราะคณะกรรมาธิการสรรหายืนยันได้พิจารณาคุณสมบัติมาอย่างดีแล้ว ดังนั้นก็อยู่ที่ดุลพินิจของสมาชิก โดยวันที่ 30 เม.ย. กมธ.ฯ จะประชุมสรุปและจัดทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 1 พ.ค.

สำหรับผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1.นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ 2.นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี 3.นายปริญญา ศิริสารการ อดีต สสร. 4.นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 5.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด ที่ปรึกษา (สบ 10) 6.นางวิสา เบ็ญจะมโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ 7.นางอมรา พงศาพิชญ์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

No comments:

Post a Comment