พิษเศรษฐกิจทรุดหนัก นายกฯเล็งตัดงบประมาณ ปี 53 ลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยภาครัฐ สั่งเร่งแก้ปัญหา หมู มะนาวแพง ส่วนผลสำรวจพบว่า ชาวบ้านเริ่มถังแตกรายได้หดหาย ไร้เงินเก็บออม หาแหล่งเงินกู้เสริมรายได้กันพัลวัน ขณะที่ กระทรวงการคลัง เดินหน้าจ่ายเช็คช่วยชาติ จ่อคิวจ่ายอีก 6 กลุ่มได้สิทธิ์เพิ่มเติมและสั่งเร่งสำรวจ การจ่ายเช็คมีตกหล่นหรือไม่ ขณะที่ กรมบัญชีกลาง เร่งตรวจสอบผู้รับเช็คนำไปเก็บหรือนำไปใช้ มากน้อยเพียงไร และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้จัดพิมพ์เช็คช่วยชาติ ตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน 2,000 บาท รอบแรกไปแล้ว 8.094 ล้านฉบับ เป็นเช็คในส่วนของผู้ประกันตน 7.129 ล้านฉบับ บุคลากรภาครัฐ 728,149 ฉบับ และผู้รับบำนาญ 237,221 ฉบับ โดยจ่ายเช็คไปแล้วในส่วนของผู้ประกันตน 6.5 ล้านฉบับ บุคลากรภาครัฐครบทั้งหมด และผู้รับบำนาญ 182,323 ฉบับ
ทั้งนี้ มีประชาชนนำเช็คช่วยชาติไปขึ้นเงินกับธนาคารแล้ว 5.813 ล้านฉบับ คิดเป็น 71.82% หรือคิดเป็นเงิน 11,627.82 ล้านบาท ผู้ประกันตนนำเช็คไปขึ้นเงิน 5.304 ล้านฉบับ บุคลากรภาครัฐ 265,103 ฉบับ ผู้รับบำนาญ 153,900 ฉบับ สำหรับผู้รับบำนาญที่ยังไม่ได้รับเช็คนั้น ให้ไปขอรับได้ที่กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 23 มิ.ย.นี้
“ผมได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางเร่งสำรวจตรวจสอบว่า จากกลุ่มแรกที่ได้รับเช็คไปแล้วนั้น ยังมีส่วนที่ตกหล่นอีกหรือไม่ โดยมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง หากมีเพิ่มเติม จะแจ้งให้ธนาคารกรุงเทพจัดพิมพ์เช็คให้ต่อไป และให้เตรียมพร้อมสำหรับอีก 6 กลุ่มที่จะมีสิทธิได้รับเช็คเพิ่มเติม ตามที่ ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ บุคลากรขององค์การมหาชน ทหารเกณฑ์ของกระทรวงกลาโหม บุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน และบุคลากรขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ประชุมหารือเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินต่อไป”
ขณะที่ น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า หลังจากนี้ กรมบัญชีกลางจะเร่งตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ประชาชนได้นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในโครงการ รับเช็คช่วยชาตินั้น มากน้อยอย่างไร แม้ตัวเลขดังกล่าวจะไม่ได้แสดงถึงยอดการใช้จ่ายเงินจากเช็คทั้งหมด แต่เป็นแนวทางให้เห็นถึงการนำเงินไปใช้จ่าย หรือนำเงินไปเก็บไว้ เพื่อพิจารณาถึงผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของการแจกเช็คว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจจากการหมุนของเงินได้หลายรอบหรือไม่
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ว่า รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากผลกระทบรุนแรงมากขึ้นจากเหตุการณ์ทางการเมือง และประเมินว่าเหตุ การณ์ครั้งนี้ ทำให้รายได้ของรัฐบาลต้องหายไป เพราะนอกเหนือจากการส่งออกแล้ว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงมาก และยังมีผลกระทบต่องบประมาณปี 53 ที่ต้องปรับลดลงไป จากเดิมที่ตั้งใจไว้ 2 แสนล้านบาท และรัฐบาลต้องเร่งหาคำตอบให้ได้ใน 2 สัปดาห์ถึงที่มาของเงินลงทุนต่าง ๆ ที่จำเป็นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าว่า จะมาจากที่ไหน อย่างไร
“ผมยืนยันว่าหลักสำคัญของงบประมาณ ที่ต้องปรับลดคือ เราจะไปดูเรื่องความฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นในหน่วยงานของรัฐก่อน แต่จะไม่มีการไปตัดงบประมาณที่กระเทือนต่อสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะสวัสดิการหรือกำลังซื้อของประชาชนและข้าราชการ ดังนั้น ข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลจะไปตัดงบของโครงการรักษาฟรี จึงไม่ใช่เรื่องจริง ทั้งนี้ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจวันที่ 29 เม.ย.นี้ จะพิจารณาภาพรวมมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้เราจะต้องมาดูแลทุกปัญหา ส่วนปัญหาของแพง เช่น หมู มะนาว ก็จะได้เร่งรัดแก้ปัญหา และจะต้องเร่งประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวในสัปดาห์หน้าด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ ม.อัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง แหล่งเงินที่พึ่งพายามยากของประชาชนในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าประชาชนร้อยละ 48 ไม่มีการเก็บเงินออม ในขณะที่ร้อยละ 27.0 การออมลดลงและร้อยละ 19.7 ออมเท่าเดิม โดยส่วนใหญ่ต้องการเก็บออมเพื่อเป็นทุนการศึกษาของบุตรหลาน เพื่อเป็นการรักษาพยาบาลและไว้ใช้ตอนเกษียณราชการตามลำดับ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนร้อยละ 52.4 เงินขาดมือในช่วงเดือน เม.ย. เมื่อเทียบกับช่วง ม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 7.0 มีรายรับมากกว่ารายจ่าย
ส่วนแหล่งเงินที่พึ่งยามยากในช่วงเศรษฐกิจปัจจุบัน พบว่าร้อยละ 24.4 พึ่งกองทุนหมู่บ้านและสหกรณ์ ร้อยละ 23.9 พึ่งเงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 17.1 พึ่งสินเชื่อจากธนาคาร ส่วนที่เหลือพึ่งการจำนำและจำนองทรัพย์สิน สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารและบัตรเครดิตตามลำดับ ขณะที่ปัญหาสำคัญที่อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือปัญหาปากท้อง ร้อยละ 47.9 ปัญหาการเมืองและความแตกแยกของคนในชาติร้อยละ 42.9 และปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติดและปัญหาสังคมตามลำดับ.
Sunday, April 26, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment