Wednesday, April 29, 2009

ทุ่ม200ล.ประกันจลาจล ดึงทัวร์ตปท.ฟื้นท่องเที่ยว ขรก.ปลื้มครม.จ่ายโบนัส

รัฐบาลหมดท่าหวั่นรายได้ดิ่งเหวหลังเจอพิษการเมือง-เศรษฐกิจอ่วม คลอดมาตรการอุ้มเอสเอ็มอีกู้เงินแบงก์มาจ่ายภาษีแทนโดยให้บสย.เข้าไปค้ำ ประกันความเสี่ยง คาดได้เงินเสียภาษีแน่ ๆ หมื่นล้าน พร้อมให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้ 5 พันล้าน ช่วยเอสเอ็มอีท่องเที่ยวรายละไม่เกิน 5 ล้าน เร่งกระตุ้นความเชื่อมั่นเจียดงบให้ 200 ล้าน ประกันภัยจากเหตุจลาจลให้นักท่องเที่ยว 6 เดือน ไฟเขียวอนุมัติงบ 6.7 พันล้านจ่ายโบนัสขรก.ทำงานดี 1.5 ล้านคน พร้อมขยายใช้น้ำประปาเทศบาล-ท้องถิ่นฟรีช่วง เม.ย.-ก.ย.นี้ ขณะที่กรรมกร ตั้ง 20 ศูนย์ร้องทุกข์ รองรับเหตุเลิกจ้าง จี้รัฐผุดกองทุนช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบ มาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี ทั่วไป เพื่อนำมาชำระภาษีนิติ บุคคล ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง 100% เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี เพื่อนำมาใช้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายในเดือน พ.ค. นี้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันแต่ อย่างใด แต่มีเงื่อนไขการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ คือ คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เป็นเวลา 1 ปี และมีระยะเวลาปลอดหนี้ 3 เดือน คาดว่าจะมีผู้มาขอใช้สินเชื่อประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากที่ปกติภายในเดือน พ.ค.นี้จะมีนิติบุคคลที่เสียภาษีประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยเป็นภาษีของเอสเอ็มอี ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วจะเร่งดำเนินการ ให้เร็วที่สุด เพราะได้ประสานงานและขอความร่วมมือกับสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย และ ธนาคารพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยจะสิ้นสุดระยะเวลาการกู้เงินภายในเดือน พ.ค. นี้ โดยผู้มาขอสินเชื่อก่อนจะได้รับการพิจารณาก่อน และธนาคารแต่ละแห่งจะให้สินเชื่อในรูปแบบของเช็คที่สั่งจ่ายให้กับกรม สรรพากร เพื่อไปชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการนำสินเชื่อไปใช้ทำอย่างอื่น ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าจะเกิดปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลน้อยมาก เพราะผู้ที่สามารถเสียภาษีได้ย่อมเป็นลูกหนี้ ที่ดีด้วย “ผมขอยืนยันว่ามาตรการนี้เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีเพื่อให้มี เงินมาชำระภาษีให้กับรัฐบาลได้ตรงตามเวลาเท่านั้น โดยเอสเอ็มอีที่จะได้รับการช่วยเหลือต้องเป็นไปตามคำนิยามที่กำหนดไว้ เท่านั้น เช่นมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นเชื่อว่ามีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากกว่า เอสเอ็มอี จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามาช่วย เหลือ”

รมว.คลัง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ครม.ยังได้เห็นชอบมาตรการทางด้านการท่องเที่ยวเพื่อช่วยเหลือผู้ ประกอบการด้านท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องรวมทั้งยังมีมาตรการเพิ่มความ มั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากปัญหาการเมืองได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมาก จึงขอวิงวอนให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงความรับผิดชอบของคนไทยทุกคนไม่ใช่แค่การ อ้างสิทธิเท่านั้นแต่ต้องใช้วิจารณญาณและรักษาหน้าที่ของตนเองเพื่อรักษาผล ประโยชน์ของประเทศโดยรวมด้วย

ด้าน นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช. คลัง กล่าวว่า มาตรการด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วยการให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่ง ประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยสินเชื่อ 5 พันล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องทุกราย ในอัตราสูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษคือดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีแบบมีระยะเวลาหรือเอ็มแอล อาร์ ลบ 3% หรือเท่ากับ 4% เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นคิดดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ เป็นเวลา 3 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 1 ปี โดยได้ปรับเงื่อนไขการกู้เงินให้สะดวกมากขึ้นโดยใช้บุคคลธรรมดา หรือนิติ บุคคล เข้ามาช่วยค้ำประกัน หรือหากขอสินเชื่อตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปสามารถค้ำประกันไขว้กันได้ หากไม่มีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ได้มอบหมายให้บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ คิดค่าธรรมเนียม 0.25%

ทั้งนี้ธพว.จะพิจารณาให้สินเชื่อภายในเวลา 15 วัน นับจากที่สมาคมด้านการท่องเที่ยวได้คัดกรองรายชื่อที่ชัดเจนให้แล้ว มั่นใจว่าจะเกิดปัญหาหนี้เสียค่อนข้างน้อยเพราะได้รับการคัดกรองมาจากสมาคม แล้ว โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่ 1 พ.ค.-31 ก.ค.นี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 2-3 พันราย เข้ามาใช้สินเชื่อนี้แน่นอน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเอสเอ็มอีพาวเวอร์ โดยรัฐบาลจะรับภาระในเรื่องของดอกเบี้ยประมาณ 2% หรือประมาณ 200 ล้านบาท นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบให้จัดทำระบบประกันภัยให้กับผู้ที่เดินทางเข้ามาใน ไทยระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-31 ต.ค.นี้ กรณีถ้าเกิดเหตุจลาจลในประเทศไทย จะให้ความคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ โดยครอบคลุมทั้งกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียเวลา ล่าช้า หรือกลับไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด โดยรัฐบาลจะเข้าไปรับภาระทั้งหมดผ่านบริษัทประกันภัย โดยจะจัดสรรวงเงิน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ามาใน ไทยต่อไป

ส่วนนายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรม การพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และรับทราบการดำเนินการในการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการ ปฏิบัติราชการ และการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 2551 ของส่วนราชการ จังหวัด สถาบันอุดมศึกษา โดยอนุมัติ ให้ นายพระนาย สุวรรณรัตน์ ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ศอ.บต. ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. 2549 ถึง 30 ก.ย. 2550 ให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารเป็นการเฉพาะราย และ ก.พ.ร. ได้ประสานไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อจัดงบประมาณไปตั้งจ่ายที่กรมบัญชีกลาง 6,735 ล้านบาท สำหรับจ่ายเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 2551 ให้แก่หน่วยงานเพื่อจัดสรรแก่ผู้ปฏิบัติงาน 6,142.5 ล้านบาท และจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษ สำหรับผู้บริหารประจำปีงบประมาณ 2551 จำนวน 592.5 ล้านบาท ซึ่งจะมีข้าราชการมีสิทธิได้รับจัดสรรเงินรางวัลดังกล่าว 1.5 ล้านคน

ขณะที่นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ครม.เห็นชอบให้มีการขยายขอบข่ายผู้ใช้น้ำประปาฟรี เพิ่มเป็นครอบคลุมถึงประชาชนที่พักอาศัยในบ้านเรือน รวมถึงผู้เช่าห้องเช่าหรืออาคารชุดอัตราไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท โดยที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 2,985.7 ล้านบาท เพื่อชดเชยค่าน้ำประปาที่อยู่อาศัยของระบบประปาเทศบาลหรือ อปท. สำหรับมาตรการดังกล่าวจะใช้ระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ย. 2552 ทั้งนี้คาดว่าจะมีประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการนี้อีก 4.6 ล้านคน

ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย วันเดียวกัน กลุ่มองค์กรผู้นำแรงงาน นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย แถลงข่าว “ปฏิบัติการขบวนการแรงงานไทย ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ” โดย น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า คสรท.ได้ร่วมกับเครือข่ายแรงงานจัดตั้ง 20 ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์เพื่อเป็นช่องทางให้คนงานร้องทุกข์ ซึ่งใน 3 เดือนแรกพบว่ามีจำนวนแรงงานที่มีการเลิกจ้างไปแล้ว อย่างน้อย 5 หมื่นคน และมีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้างอีกกว่า 2 ล้านคน โดยมีแรงงานมาร้องเรียนกับศูนย์ทั้งสิ้น 13,270 คน

ด้าน นายยงยุทธ กล่าวว่า ศูนย์ข้อร้องเรียน ผู้ใช้แรงงานด้านยานยนต์ มีเรื่องร้องเรียนประมาณ 200 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องบริษัทเหมาค่าแรง และได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเรื่องไม่จ่ายค่าชดเชย จ่ายไม่ครบ และเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยปัญหาส่วนใหญ่นายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เพราะเกรงว่าลูกจ้างจะไม่ให้ความร่วมมือ รวมทั้งมีการกดดันให้ลูกจ้างเซ็นใบลาออก จึงอยากให้กระทรวงแรงงานผลักดัน “เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” เพื่อใช้ในการต่อสู้ กรณีที่มีข้อพิพาทแรงงานต้องใช้เวลานาน

ที่สำนักงานประกันสังคม นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิด เผยหลังประชุมบอร์ด สปส.ว่า ที่ประชุมบอร์ด สปส. ได้มีมติให้ลดเงินสมทบให้กับลูกจ้าง นายจ้าง จำนวนร้อยละ 2 คือจากเดิมที่เคยจ่าย ร้อยละ 5 เหลือเพียงร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่ง สปส.จะต้องเสียเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท กระทบต่อผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินกรณีชราภาพในปี พ.ศ. 2557 จำนวน 2.6 แสนคน หรือ ประมาณ 118 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามจะออกกฎกระทรวงเพื่อนำเงินที่รัฐบาลส่งเงินสมทบจำนวนร้อยละ 2.7 มาแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลังจากนั้นจะนำเสนอให้นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว. แรงงาน เห็นชอบในวันที่ 1 พ.ค. พร้อมเสนอ ให้ ครม.อนุมัติต่อไป.

No comments:

Post a Comment