Sunday, April 26, 2009

"พรทิพย์"ปัด ส.ส.ร่วมผ่าศพทหาร หลายฝ่ายหนุนกม.ควบคุมการชุมนุม

นักวิชาการ-ตำรวจ หนุนออกกฎหมายควบคุมการชุมนุม ขณะที่ เอ็นจีโอไม่เห็นด้วย อ้างการชุมนุมทางการเมือง ก็ต้องแก้ด้วยการเมือง ด้าน “อภิสิทธิ์” ระบุต้องเร่งสะสางปัญหา 2 จุด 1. เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 2. ต้นเหตุของความขัดแย้ง ยืนยัน 3 ศพไม่เกี่ยวกับเหตุสลายม็อบ ลั่นต้องพิสูจน์ทุกภาพที่มีผู้นำออกมาเผยแพร่ ทำตามหลักธรรมาภิบาล ส่วนพลทหาร เสียชีวิตหลังตนออกจากบ้านแล้ว ระบุต้นเหตุของปัญหาคือ การเมืองต้องหาทางออกร่วมกัน วอน ตุลาการ-องค์กรอิสระ ต้องออกมาชี้แจงเรื่อง 2 มาตรฐาน วอนประชาชนอย่าด่วนสรุปข้อมูล ที่มีคนปลุกปั่น พร้อมชวนคนไทยสวดมนต์-ภาวนา เพื่อลดความขัดแย้ง ข้องใจ “ทักษิณ-จักรภพ” พูดพาดพิงสถาบันทำไม เพราะยิ่งทำให้ประเทศชาติเสียหาย ขณะที่ ศพพลทหาร ที่พรรคเพื่อไท นำมาผ่าพิสูจน์ “หมอพรทิพย์” ปฏิเสธให้ ส.ส.เข้าพิสูจน์ในห้อง อ้างทำตามระเบียบ แม่พลทหาร จึงขอย้ายไปให้ หมอศิริราชช่วยผ่าพิสูจน์แทน ด้าน สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่ตนและรัฐบาลเดิน หน้านำบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่เราพยายามดำเนินการคือ ทำให้เหตุการณ์และการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างโปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ซึ่งจากวันนี้ไปเราจะต้องช่วยกันสะสางใน 2 จุด จุดแรกคือ เรื่องเหตุ การณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งตนได้รายงานสถาน การณ์ต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบเป็นระยะแล้วเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและจุดยืนของรัฐบาล โดยได้ให้นโยบายและกำชับกับหน่วยปฏิบัติตลอดเวลาว่า ทุกมาตรการที่ใช้ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ และทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งตนยังยืนยันจนถึงวันนี้ว่า ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในช่วงที่มีการ ประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง โดยผู้เสียชีวิต 2 ศพที่พบศพในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีพยานยืนยันชัดเจนว่าไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

จะพิสูจน์ทุกภาพที่นำมาเผย

“หรือกรณีพลทหารที่ดูแลบ้านพัก ที่ผมไปพักอยู่ระหว่างวันที่ 12-13 เม.ย. เสียชีวิต ก็เกิดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งเป็นเวลาที่ผมไม่ได้พักอยู่แล้ว ซึ่งจากรายงานและพยานระบุว่า เสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุ นอกจากนี้ก็ยังมีภาพเหตุการณ์ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลก็พยายามชี้แจงว่าแต่ละภาพมีที่มาที่ไปอย่างไร และเราจะเดินหน้าทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส เพราะใครก็ตามที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เราต้องยืนยันข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นอย่างไร ผมตั้งใจที่จะให้มีการตรวจสอบ พิสูจน์ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการนำเสนอ และชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบทุกแง่ทุกมุม เพราะถือเป็นมาตรฐานเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล นอกจากนี้ที่จำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะยังมีคนจำนวนหนึ่งพยายามนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ที่จะทำให้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงขึ้นได้อีก เช่นขณะนี้มีคนนำใบปลิวมาให้ผมดู อ้างว่าเป็นใบปลิวจากผู้สื่อข่าว ทีวีที่บอกว่า ไม่สามารถเสนอความจริงได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังบรรยายว่าจริง ๆ มีคนตาย และที่เห็นชัดเจนว่าคลาดเคลื่อนคือ พูดถึงเหตุการณ์ที่กระทรวงมหาดไทย บอกว่าผมไม่ได้อยู่ในรถยนต์คันที่มีการทำร้าย เป็นการวางแผนเพื่อสร้างสถานการณ์ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย” นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า ขอให้ประชาชนที่ ได้รับข้อมูลต่าง ๆ ในช่วงนี้ได้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองแยกแยะ ถ้าสงสัยจะมีขบวนการพิสูจน์ชี้แจงต่อไป ซึ่งไม่ได้ทำโดยรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะดำเนินการด้วย และเข้าใจว่าคงจะมีการนำเรื่องเหล่านี้ไปสู่องค์กรอิสระอื่น ๆ เพื่อสะสางกันต่อไปด้วย

ระบุต้องหาทางออกร่วมกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า จุดที่ 2 ที่ต้องดำเนินการคือ ต้นเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง จึงจำเป็นต้องหาทางออกทางการเมือง ซึ่งหลังจากการประชุมร่วมรัฐสภาที่ผ่านมา ตนได้ขอให้ประธานรัฐสภาเชิญทุกฝ่ายมาหาทางออกร่วมกัน แต่คงไม่สามารถทำได้ลำพังเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเป็นเรื่องของทั้งสังคม ดังนั้นถ้าจะพูดถึงการปฏิรูปการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการสมานฉันท์ ต้องเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งมีความจำเป็นเพื่อปรับฐานการเมืองให้ทุกฝ่ายยอมรับกฎกติกาที่มีอยู่ ก่อนที่เราจะแสวงหาทางออกทางการเมืองในขั้นต่อไป เพราะหากยังไม่ได้ชำระสะสางกันในเรื่องนี้ การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใด ๆ คงไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานได้ จะทำให้เราย้อนไปอยู่ในสถานการณ์ที่ผ่านมาในช่วง 2-3 เดือนนี้ ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการคลี่คลายสภาพปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นความขัดแย้ง

เรื่อง 2 มาตรฐานต้องชี้แจง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาที่ผ่านมามีการพูดกันมากเรื่อง 2 มาตรฐาน ซึ่งก็ขอยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่มี 2 มาตรฐาน ตนทำงานให้กับทุกคนเสมอภาคกัน ส่วนคดีความ หรือการตัดสินต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้น หลายส่วนเป็นเรื่องอำนาจของฝ่ายตุลาการหรือองค์กรอิสระ ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้นก็ควรได้ทำคำชี้แจงว่าการตัดสินต่าง ๆ มีเหตุผลและข้อกฎหมายรองรับอย่างไร ส่วนถ้ากฎหมายที่เป็นที่มาของการตัดสินเหล่านั้นมีความไม่เป็นธรรม บกพร่อง ก็จะได้สรุปเพื่อให้คณะที่ดูแลเรื่องการแก้ไขปัญหาทางการเมืองนำไปประกอบการ พิจารณา ทั้งนี้ตนยืนยันว่าการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมจากนี้ไป ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับแกนนำผู้ชุมนุม หรือสื่อจะยึดตามกฎหมายเท่านั้น และจะไม่มีการนำเอาอำนาจพิเศษใน พ.ร.ก.ไปกลั่นแกล้งหรือคุกคามอย่างเด็ดขาด

ชวนสวดมนต์ลดความขัดแย้ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งหมดที่รัฐบาลทำเพื่อยุติความรุนแรง และนำความปกติกลับคืนมาสู่บ้านเมือง แต่กระบวนการตรงนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนต่อไป ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้ามีวันสำคัญที่บ่งบอกถึงการสนับสนุนสถาบันหลักของชาติ ทั้งวันแรงงาน วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา ก็ขอเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันปฏิบัติธรรม สวดมนต์ภาวนา หรือเข้าไปร่วมในกิจกรรมทางศาสนา เพื่อเตือนสติว่าสิ่งสำคัญคือความสงบสุขและไม่มีความขัดแย้งกัน ส่วนประชาชนที่นับถือศาสนาอื่น เช่นอิสลาม ตนก็กำลังเร่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ นอกจากนี้ก็ใกล้วันฉัตรมงคล ซึ่งรัฐบาลจะได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ ประชาชนทั้งประเทศได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันนี้ให้เป็น ที่เคารพของประชาชนทุกหมู่เหล่า และต้องดำรงสถาบันนี้ไว้ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง

ชอบชีวิตเรียบง่ายทำให้ถูกทุบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นในช่วงที่ 2 ของรายการ นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามพิธีกรรับเชิญ โดยระบุว่าหลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เพิ่งได้นอนเต็มที่ในช่วงคืนวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมา เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่พัทยาและกระทรวงมหาดไทยเกิดความผิดพลาดจากอะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีสองส่วน ส่วนแรกตนเป็นคน ง่าย ๆ สบาย ๆ ในการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ก็ไม่คาดคิดว่าการชุมนุมจะบานปลายเป็นอย่างนี้ ซึ่งต่อไปนี้ก็คงต้องฝืนใจตัวเองนิดหน่อย และต้องยอมรับมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ส่วนที่ 2 เป็นภาพรวมที่อาจมีข้อบกพร่องในบางส่วน ซึ่งก็ต้องแก้ไข แต่อีกส่วนเราก็นึกไม่ถึงจริง ๆ ว่าจะมีการประกาศถึงขั้นว่าจะจับตัว ไล่ล่า ซึ่งต่อไปก็ต้อง ปรับปรุง เพราะไม่ใช่เรื่องแค่ตัวของตน แต่เป็นเรื่องผู้นำของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความมั่นใจ โดยตอนนี้ก็มีการปรับพอสมควร ทั้งในส่วนที่อยู่กับตนและสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องขออภัยประชาชนด้วย เพราะเวลาที่ตนไปไหนอาจจะมีขบวนใหญ่ขึ้น และมีการเข้มงวด ตรวจตราคนไปร่วมงานมากขึ้น เพราะตนเองก็ไม่ชอบใจ ยังอยากจะไปไหนมาไหนคนเดียว แต่ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ และมีความรับผิดชอบของตัวเอง ยอมรับ 2-3 เดือน รัฐมีข้อบกพร่องต้องแก้ไข ชี้ต้นเหตุถูกทุบเพราะชอบชีวิตเรียบง่าย

เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายเรียกร้องความรับผิดชอบจากฝ่ายการเมืองต่อเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองก็กำลังมาทบทวนดูต่อสภาพปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมด ในช่วงตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.จนถึงวันนี้ทุกอย่างก็ค่อนข้างไปได้ด้วยดี ดังนั้นหากเราสามารถทำต่อในระดับนี้ได้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่การสรุปจุดอ่อนข้อบกพร่องทั้งหลาย ซึ่งมีแน่นอนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็จะต้องแก้ไข ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็จะมาปรึกษาหารือกันกับทุกฝ่าย

ข้องใจ “แม้ว-เพ็ญ” พูดพาดพิง

เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำเสื้อแดงอยู่ที่ไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ต่างประเทศ มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา หากทั้งสองคนยังจะพูดพาดพิงถึงสถาบันหรือพูดจาในลักษณะที่ผิดกฎหมายอีก เราก็ต้องดำเนินการ และก็จะยิ่งเพิ่มข้อหาในการทำผิดกฎหมายมากขึ้นไปอีก ซึ่งไม่ทราบว่าจะทำไปทำไม เพราะประเทศชาติยิ่งเสียหาย ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลก็จะชี้แจงต่อสื่อต่างประเทศต่อไป ซึ่งในช่วงหลังสื่อต่างประเทศก็เข้าใจชัดเจนขึ้น ส่วนการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่สนามหลวงนั้น ถ้าชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธก็ไม่มีปัญหา แต่ต้องไม่ยุยงให้เกิดความรุนแรง เช่นเดียวกับวิทยุชุมชนและสถานีโทรทัศน์บางช่อง ต้องไม่ไปยุยงให้คนทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้แม้เลิก พ.ร.ก.แล้ว ตำรวจและทหารก็ยังต้องช่วยกันดูแลความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มข้นไปอีกระยะ หนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามถึง ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่แจ้งให้กับ รัฐบาลไทย ในกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น นาย อภิสิทธิ์ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็น ผู้ประสานงาน แต่จะยังมีการตรวจสอบกันอีก ครั้ง เมื่อถามว่ามีรายงานข่าวจากคนใกล้ชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังสามารถเดินทางเข้าประเทศยูเออีได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังตรวจสอบอยู่ว่าจริง ๆ แล้วอยู่ในที่ที่เขาอ้างว่าอยู่หรือไม่

แย้มอาจไม่ต้องนิรโทษกรรม

เมื่อถามว่าการนิรโทษกรรม จะเป็นข้อสรุปสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความผิดทางการเมืองเอามาวางบนโต๊ะกันได้ ส่วนจะทำหรือไม่ทำ ต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล อาจจะต้องมีกระบวนการถึงขั้นทำประชาพิจารณ์ หรือประชา มติก็ได้ แต่เราต้องแยกระหว่างความผิดทางการเมืองกับอาญา ความผิดทางอาญา ไม่ควรไปพูดถึงเลย ส่วนความผิดทางการเมืองต้องมาดู ซึ่งบางคนบอกว่ากฎหมายไม่ดี ไม่สมบูรณ์บางมาตรา อยากจะแก้ไข แต่ปัญหาคือ พอแก้แล้วก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า แก้เพื่อตัวเองหรือไม่ ซึ่งเป็นปมที่ค้างมา 2 ปีแล้ว ดังนั้นต้องหาความพอดี ถ้าเราจะทำตนเห็นว่าอะไรที่เป็นระบบที่ถูกต้องก็ไปให้ถึงจุดนั้น แต่อย่าไปคำนึงว่าทำเพื่อให้คนนั้น คนนี้คืนสิทธิ ไม่ควรไปตั้งเป้าว่าใครควรได้รับการคืนสิทธิหรือใครควรถูกดองไว้ แต่ต้องดูระบบและความเป็นธรรมก่อน บางทีคำตอบอาจจะไม่ใช่เรื่องการนิรโทษหรือไม่นิรโทษก็ได้ อาจมีช่องทางอื่นอีกมาก เช่นแก้กฎหมายแล้วอาจจะมีบทเฉพาะกาลเขียนอย่างไรให้มีความเป็นธรรมกับทุก ฝ่าย และตอบคำถามสังคมได้

ระบุฝ่ายค้านร่วมมือแก้ไขดี

ต่อมาที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงปรับเปลี่ยนท่าทีการเคลื่อนไหวโดยจะ ไม่ปราศรัยโจมตีองคมนตรีแล้ว หลังจากนายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือในที่ประชุมรัฐสภาโดยไม่ให้พาดพิงสถาบัน เบื้องสูงและไม่ให้สร้างความรุนแรง ว่า หลังจากการอภิปรายในการประชุมดังกล่าว ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ได้แสดงความขัดข้องใด ๆ ซึ่งตนคิดว่าเป็นความพยายามที่จะช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบ และตนดูในช่วงที่ผ่านมาก็เห็นว่าน่าจะดีขึ้น โดยฝ่ายค้านให้ความสำคัญกับการมีคณะทำงานที่มาดูเรื่องรัฐธรรมนูญและการ ปฏิรูปการเมือง ซึ่งขอให้เป็นเช่นนี้ตลอดไป ส่วนรายละเอียดที่ว่าจะแก้อะไรหรือไม่นั้น เป็นกระบวนการที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของสังคมอยู่แล้ว โดยถ้าประเด็นใดที่มีความเห็นที่หลากหลายมาก ก็ต้องไปรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน และต้องมีวิธีที่มันยุติรวมถึงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ไม่ขัดญาติพลทหารร้องผ่าศพ

เมื่อถามว่าการเสียชีวิตปริศนาของพลทหารอภินพ เครือสุข อายุ 22 ปี ภายในบ้านพัก พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 มีนักการเมืองในฝ่ายค้านเข้าไปเกี่ยวข้องซึ่งทำ ให้ดูเหมือนว่าเรื่องจะบานปลาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงจะมีข้อยุติ เพราะจะให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาที่สุด และรัฐบาลไม่ได้ขัดข้องใด ๆถ้าจะมีการสอบสวน ทั้งนี้ ตนก็รู้สึกเสียใจต่อการเสียชีวิตดังกล่าว เพราะเข้าใจว่าเป็นคนที่ดูแลตนในช่วงที่พักอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ แต่การเสียชีวิตเกิดขึ้นหลังจากที่ตนไม่ได้พักที่นั่นแล้ว และตนมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมต้องมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่เพื่อให้เกิดความโปร่งใสก็ต้องให้มีการสอบสวนต่อไป โดยต้องเอาข้อเท็จจริงออกมาให้หมด และถ้ามีอะไรผิดปกติ ก็ต้องเดินหน้าตรวจสอบกันไป ส่วนมีการส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี ชันสูตรศพของพลทหารอภินพอย่างละเอียดอีกครั้งนั้น ถ้าเพื่อความสบายใจ ตนก็ยินดีให้ทำ ไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อได้ข้อมูลอย่าด่วนสรุป

ต่อข้อถามว่าแต่ยังมีการใช้ประเด็นนี้ไปพูดเพิ่มเติม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนจึงขอว่าเมื่อประชาชนได้ข้อมูล อย่ารีบสรุปว่าอะไรเป็นอะไร และรัฐบาลไม่มีการเพิกเฉยหรือละเลยข้อมูลที่มีการนำเสนอในทุกจุด แต่ให้ความสำคัญและจะนำมาตรวจสอบ ชี้แจง ถ้ามีการอ้างอะไรเป็นหลักฐาน จะนำมาใช้ในการตรวจสอบทั้งหมด อีกทั้งการเสียชีวิตทุกกรณีต้องมีการสอบเพื่อให้เกิดความพอใจว่าสาเหตุ ที่แท้จริงเป็นอย่างไร เมื่อถามว่าจะมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะมีการชี้แจงให้ละเอียดครบทั้งหมดผ่านการใช้สื่อต่าง ๆ ในการเสนอข้อเท็จจริง เพื่อให้ปราศจากข้อสงสัย

“เทพไท” ชี้รัฐบาลไม่ได้คุกคาม

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกส่วนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า สิ่งที่ นปช.เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้รัฐบาลยุติการคุกคาม นปช.และแกนนำนั้น ยืนยันได้ว่า รัฐบาลไม่ได้คุกคามแกนนำและคนเสื้อแดง โดยรัฐบาลประกาศแล้วว่า จะไม่ดำเนินคดีกับคน เสื้อแดงที่เข้าร่วมชุมนุม เว้นแต่แกนนำที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการตามกฎหมายก็ไม่ได้เป็นสองมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง หากกระทำผิดก็ดำเนินการเหมือนกันหมด ประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแล้วว่า ไม่มีการดำเนินการสองมาตรฐาน โดยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องแทรกแซงใด ๆ ทั้งสิ้น

นายเทพไท ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องให้เปิดดีสเตชั่น และคืนอุปกรณ์ว่า การปิดดีสเตชั่นเป็นเรื่องของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เพราะการแพร่ภาพของดีสเตชั่นเข้าข่ายปลุกระดมทางการเมืองจึงต้องดำเนินการ ซึ่งหากดีสเตชั่นปรับปรุงตัวเอง กทช.ก็อาจพิจารณาคืนสิทธิในการแพร่ภาพและกระจายเสียงให้ก็ได้

“สำหรับข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้นำ รธน.40 มาใช้ ประเด็นนี้นายกฯได้จุดประเด็นขึ้นมาและจะให้มีกรรมการปฏิรูปการเมืองซึ่งจะ เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ววัน จึงเป็นสัญญาณที่ดี คิดว่าน่าที่จะยุติการเคลื่อนไหว เหมือน นปช.ที่อยู่ต่างจังหวัดที่หยุดการเคลื่อนไหว เพื่อต้องการให้รัฐบาลได้มีเวลาทำการฟื้นฟูประเทศ เพราะประเทศได้บอบช้ำมานาน” นายเทพไท กล่าว

ไล่ “วิทยา” ดูคนของตัวเองก่อน

นายเทพไท ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ขอให้นายกฯฝากมายังทีมงานโฆษกให้ระมัดระวังการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ตนขอเรียนว่า ทีมงานโฆษกมีความระมัดระวัง และไม่เคยสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง การดำเนินการได้ยึดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี จึงขอเรียกร้องกลับไปยังประธานวิปฝ่ายค้าน ให้ไปตรวจดูความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่ามีความเคลื่อนไหวที่ ระมัดระวังหรือไม่ คนแรกคือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ออกมากล่าวหารัฐบาลว่าคุกคามคนเสื้อแดงอยู่ตลอดเวลา คนที่ 2 นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ที่พยายามสร้างเงื่อนไขว่ามีคนเสียชีวิตในช่วงวันที่ 13-14 เม.ย.จำนวน 20 คน และคนที่ 3 คือนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย ของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังไม่หยุดการเคลื่อนไหว โดย ออกมากล่าวหาพยายามทำให้คิดได้ว่า พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและ รัฐบุรุษ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องทั้งหมด ทั้งนี้การยกคนสามคนมาพูด นายวิทยาอาจบอกว่าคนทั้งสามไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย แต่จริง ๆ แล้วมีความเกี่ยวข้องกัน พรรคเพื่อไทยควรกลับ ไปมองตนเองก่อนจะออกมาเรียกร้องหรือวิจารณ์คนอื่น

ขอบคุณที่เสื้อแดงชุมนุมสงบ

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค แถลงว่า การติดตามการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อคืนที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบ แต่ทั้งนี้จากการติดตามเนื้อหาการชุมนุม พบว่ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสมบางประการ คือ ความบิดเบือนและโยนความผิดให้รัฐบาล โดยเฉพาะความพยายามตอกย้ำว่ามีผู้เสียชีวิตจากการผลักดันการชุมนุม ทั้งที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอในการกล่าวอ้าง จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่โดย เร็ว ทำความจริงให้ปรากฏและออกมาชี้แจงกับ ประชาชน ทั้งนี้ขอยืนยันว่าไม่มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีญาติของผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้อง หรือแจ้งให้ทราบว่ามีผู้ได้รับความเสียหาย มีเพียงแต่การกล่าวของแกนนำและส.ส.พรรคเพื่อไทย

ทางด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบการเสียชีวิตของ พลทหารอภินพ เครือสุข ว่า พรรคเห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้หน่วยงานที่เป็นกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยพรรคยืนยันว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงการตรวจสอบ โดยพรรคจะมีบทบาทสนับสนุนเพียงในส่วนที่จะเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับ ประชาชน

ระบุญาติไม่ไว้ใจ “หมอพรทิพย์”

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ประธานคณะทำงานไต่สวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการอำนวย การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบความไม่เรียบร้อยและการสลายการชุมนุมของพรรค เพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ญาติของพลทหารอภินพ เครือสุข ทหารเกณฑ์ที่เสียชีวิตภายในบ้านพักแม่ทัพภาคที่ 1 ตัดสินใจไม่ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ดำเนินการชันสูตรศพ หลังจากที่ไม่เปิดให้ทีมชันสูตรศพของกรมตำรวจ และรพ.ศิริราช เข้าร่วมสังเกตการณ์ตามคำร้องของญาติ ว่า ญาติของพลทหาร อภินพ ไม่ไว้ใจสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งมายังสถาบัน ดังกล่าวก็ปฏิเสธไม่ได้ จึงได้เขียนคำร้องขอให้ทีมนิติเวชของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรพ. ศิริราช เข้าร่วมด้วยเพื่อความโปร่งใส และจะได้ดำเนินการไปในครั้งเดียวให้เสร็จสิ้น

“แต่ปรากฏว่า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ และรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้บอกว่าสถาบัน นิติวิทยาศาสตร์เป็นสถาบันจึงไม่สามารถให้ทีมนิติเวชอื่นเข้าร่วมได้ ซึ่งตนเชื่อว่าเรื่องนี้เขาคงตั้งกฎเกณฑ์ของเขาขึ้นมาเอง ดังนั้นญาติจึงได้ส่งศพไปตรวจที่นิติเวช รพ.ศิริราชต่อไป ซึ่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการส่งศพไป รพ.ศิริราช โดยอ้างว่าไม่มีรถขนศพ ทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ราชการ และมีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง จึงให้ญาติต้องอาศัยรถของมูลนิธิป่อ เต็กตึ๊งแทน

ยืนยันญาติต้องการอย่างนั้น

เมื่อถามว่าโดยปกติสถาบันนิติวิทยา ศาสตร์สามารถทำงานร่วมทีมกับ นิติเวชสถาบันอื่นได้หรือไม่ พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวว่า ได้ สมัยตนสามารถทำงานร่วมกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ สากล หรือเจ้าหน้าที่นิติเวช ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตนไม่อยากให้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ขอให้เห็นว่าเป็นการชันสูตรศพธรรมดา ที่ญาติต้องการหาข้อเท็จจริงในสาเหตุการตายเท่านั้น อย่างไรก็ตามศพของ พลทหารอภินพ มีข้อสงสัยว่าไม่มีการออกเอกสารการชันสูตรศพ มีเพียงใบมรณบัตรที่ออกโดย รพ.พระมงกุฎเกล้า เท่านั้น เมื่อถามว่า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ให้ สัมภาษณ์ว่าญาติไม่สามารถตัดสินใจเรื่องชันสูตรศพได้เอง พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวว่า พูดอย่างนั้นไม่ถูก เป็นการพูดเรื่อยเปื่อย ตนเห็นว่า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ พูดคุยกับญาติอยู่นาน โดยส.ส. พรรคเพื่อไทยได้นั่งรออยู่ด้านนอกกับพี่ชายและผู้ใหญ่บ้านของผู้ตาย การที่ญาติเดินเข้าเดินออก เพราะมาปรึกษากับพี่ชายและผู้ใหญ่บ้านของผู้ตาย เท่านั้น เพราะ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยืนยันว่าไม่สามารถอนุญาตตามคำร้องได้

เมื่อถามว่ามีข้อสงสัยกันว่า ทำไมญาติของผู้ตายถึงให้สัมภาษณ์กลับไปกลับมา พล.ต.ท. ชัจจ์ กล่าวว่า ตนทำเพียงการร้องเรียนที่ญาติส่งมายังพรรคเพื่อไทยเท่านั้น เพราะเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เต็มใจที่จะดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ ทหาร ซึ่งพรรคเพื่อไทยจึงดำเนินการช่วยเหลือ โดยหลังจากที่ผลชันสูตรศพออกมาแล้ว ตนจะส่งเรื่องไปยังคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยให้ดำเนินการต่อไป

นักวิชาการ-ตร.หนุน กม.คุมม็อบ

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 2/2552 ในหัวข้อ “ถึงเวลาประเทศไทยมีพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะได้หรือยัง?” โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นางจันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ นางวารุณี วัฒนประดิษฐ์ ตัวแทนจาก ศาลปกครองสูงสุด พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี ผู้บัญชาการสำนักกฎหมายและสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาชุมชน นางสมลักษณ์ หุตานุวัตร ผู้จัดการโครงการ พ.ร.บ. เข้าชื่อภาคประชาชน

โดยนางจันทจิรา กล่าวว่า พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ เป็นกฎหมายจะบังคับให้ผู้ชุมนุมขออนุญาตกับรัฐบาลหรือรัฐในการชุมนุม และมาตรการใน พ.ร.บ.จะออกเกินเลยกว่าที่รัฐธรรมนูญอนุญาตเรื่องเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ เพราะอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามสิ่ง ที่กฎหมายควรมี 4 ประการ คือ 1.กฎหมายต้องออกแบบเพื่อจัดการการชุมนุมโดยเฉพาะ เพราะกฎหมายอื่นไม่ได้ออกแบบเพื่อควบคุมการชุมนุม อาทิ กฎหมายเรื่องความสะอาด การควบคุมเครื่องขยายเสียง กฎหมายจราจร และกฎหมายอาญา ดังนั้นเราจึงควรที่จะมีกฎหมายนี้ได้แล้ว 2.เมื่อมีการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะที่มีประชาชนออกมาจำนวนมากอาจจะมีความ ขัดแย้งในสิทธิของคนสองกลุ่มคือคนที่มาชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรับรอง และคนที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่สาธารณะแต่ไม่ได้จะเข้าร่วมชุมนุมที่ รัฐธรรมนูญรับรองเช่นกัน ดังนั้นกฎหมายต้องจัดความสมดุล ของคนสองกลุ่มให้ได้ เพื่อจะทำให้ระบอบประชา ธิปไตยมีความแข็งแรง 3.ต้องคิดว่ากฎหมาย ฉบับนี้เป็นกฎหมายปกครองไม่ใช่กฎหมายอาญา เพราะอนุญาตให้รัฐวางมาตรการได้ถูกต้อง และสามารถคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลที่ 3 ได้ด้วย อย่ามองผู้ชุมนุมว่าเป็นคนทำผิดร้ายแรง เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย อาชญากรในบ้านเมือง นอกจากนี้กฎหมายควรวางมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมการชุมนุมตั้งแต่ขั้น อ่อนและเข้มข้นตามลำดับ และควรจะมุ่งไปในทิศทางที่คุ้มครองบุคคลทั้งสองกลุ่ม

“ในต่างประเทศอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการบางอย่างได้ตามขั้นตอน และถ้าไม่ทำตามเจ้าหน้าที่ก็จะถูกตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผิดกฎหมายอาญาหรือผิดวินัย เพราะกฎหมายนี้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายปกครอง แต่ไม่ใช่ว่าผู้ชุมนุมจะทำอะไรแล้วไม่ผิดกฎหมายอาญาเพราะ ถ้าคุณก้าวพ้นสิ่งที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง เช่นเริ่มไม่สงบ เริ่มมีอาวุธ ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งที่เจ้าหน้าที่มีสิทธิสลายการชุมนุมได้ตามกฎหมาย” นางจันทจิรา กล่าวว่า การชุมนุมที่ผ่านมามี 2 ลักษณะ คืออยู่ในที่สาธารณะที่เป็นสถานที่ปิด 2.ชุมนุมในพื้นที่ สาธารณะเปิดโล่ง ที่มีคนเข้า-ออกได้ง่ายจึงควรมีมาตรการดูแลที่แตกต่างกัน

ที่ฝรั่งเศสต้องขออนุญาตก่อน

ด้าน น.ส.วารุณี กล่าวว่า ในกฎหมาย ควบคุมการชุมนุมของประเทศฝรั่งเศสระบุว่าในการชุมนุมนั้นต้องมีหนังสือแจ้ง เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน โดยต้องระบุชื่อ ที่อยู่ อาชีพ ของผู้จัดการเดินขบวนหรือกฎหมายระบุให้เป็น คณะกรรมการผู้ชุมนุม เพื่อส่งเรื่องที่จะเรียกร้องและวัตถุประสงค์เพื่ออะไร โดยต้องกำหนดวัน เวลา สถานที่ เส้นทางการเดินขบวน จากนั้นจะต้องออกใบแจ้งทันที หากเห็นว่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้อาจมีคำสั่งห้ามชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมสามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมต้องชุมนุมไม่เกินเวลา 23.00 น. จะกระทำบนทางสาธารณะเช่น ถนนหลวงไม่ได้ ส่วนบทลงโทษหากไม่ทำตามกฎหมายจะต้องถูกจำคุกตั้งแต่ 15 วัน-6 เดือน และปรับตั้งแต่ 16 ฟรังก์ ถึง 2,000 ฟรังก์ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคือตำรวจในการดูแลยับยั้งเหตุ ที่เมื่อ เห็นว่าเหตุจะรุนแรงก็จะสามารถเข้าดำเนินการได้ นอกจากนี้ในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้นไม่มีกฎหมายโดยตรงในการควบคุมการชุมนุม แต่ให้อำนาจแก่มลรัฐ หรือเทศบาลท้องถิ่นในการออกกฎหมายควบคุมชุมนุมได้เองแต่ต้องไม่ขัดกับ รัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวเห็นว่าควรให้มีการออก กฎหมายการชุมนุมสาธารณะในลักษณะของ ประเทศฝรั่งเศสเพื่อให้ประชาชนรู้ถึงขอบเขตในการชุมนุม และเจ้าหน้าที่ทราบว่าจะต้องรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองประชาชนอย่างไร ด้วย

เกาหลีมีอาสา1.5แสนช่วย ตร.

พล.ต.ท.เจตน์ กล่าวว่า ประเทศเกาหลีใต้ต้องแจ้งก่อนการชุมนุม 48 ชั่วโมงและตำรวจกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมได้ ส่วนประเทศจีนห้ามชุมนุมใกล้วัด ใกล้วัง ใกล้ทำเนียบฯ ประเทศอังกฤษ ต้องแจ้งตำรวจก่อน 6 วันถึงจะชุมนุมได้ และห้ามใกล้วัด ห้ามพกอาวุธ ขณะที่เยอรมนีแจ้งก่อน 48 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในส่วนของเกาหลีใต้เขามีอาสาสมัครประมาณ 1.5 แสนคนในการช่วยตำรวจจับกุมม็อบและมีตำรวจทำหน้าที่ดังกล่าวเพียง 10% เท่านั้น สำหรับตนเห็นว่าควรจะต้องมีกฎหมายควบคุมการชุมนุมแล้ว เพราะทุกวันนี้ตำรวจจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะมีความรุนแรงมากขึ้น แต่ปัจจุบันนี้ยังระบุการทำงานของตำรวจไม่ชัดเจนว่าสามารถดำเนินการได้มาก น้อยเพียงไร ทั้งนี้กฎหมายที่จะออกมาควรระบุขั้นตอนชัดเจนเลยว่าตำรวจทำอะไรได้บ้างไม่ เช่นนั้นจะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจได้ โดยขณะนี้ตนกำลังร่างกฎหมาย ดังกล่าวอยู่เช่นกัน

“รัฐธรรมนูญมาตรา 63 เองก็มีปัญหา เพราะเรื่องของการปราศจากอาวุธมีกันทั้งนั้น ที่เริ่มต้นก็ผิด ผมยืนยันว่ามีสารพัดอาวุธ เพราะวันนี้เราไม่ได้เคารพกันตั้งแต่เบื้องต้น ถามว่าตำรวจจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาเราเพียงไม่ให้เกิดสถานการณ์บานปลายเพราะตำรวจไม่ได้มีหน้าที่ใน การเจรจาข้อเรียกร้อง และสิ่งที่ตำรวจทำไม่มีอะไรรองรับ เพราะเราใช้หลักป้องกันโดยหน้าที่ ที่ผ่านมาถามว่าเราทำเกินความจำเป็นหรือไม่ที่เป็นปัญหาถึงทุกวันนี้ เอามือยื่นไปข้างหน้าก็บอกว่าทำเกินหน้าที่ เอามือซุกกระเป๋าก็บอกว่าละเว้น” พล.ต.ท.เจตน์ กล่าว

พล.ต.ท.เจตน์ กล่าวอีกว่า ตำรวจอยากได้เพียงว่าสิ่งที่บอกว่าเราทำได้แล้วที่เป็นไปตามขั้นตอน ถามว่าถ้าทำตามขั้นตอนเราก็ยอมรับได้ แต่ที่ผ่านมาสภาพของตำรวจย่ำแย่ และยังมีการนำตำรวจตามโรงพักก็ไม่ได้ฝึกมาเพื่อการนี้เพราะเมื่อออกเวรแล้ว ต้องมาม็อบ แถมมาเจอสภาพอากาศร้อน ถามว่าเอามือไปแตะกันยังจะล้มแล้วจะเอากำลังอะไรไปต้านม็อบได้ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้อยากให้นักวิชาการศึกษาจริง ๆ

องค์กรพัฒนาชุมชนไม่เห็นด้วย

นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาชุมชน กล่าว ว่า ตนยืนยันว่าจะใช้กฎหมายเข้าไปควบคุมการ ชุมนุมไม่ได้ หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ผู้ชุมนุมมาเป็นหมื่นเป็นแสน กฎหมายก็เอาไม่อยู่ เมื่อเป็นปัญหาทางการเมืองก็ต้องแก้ไขด้วยการเมือง ตนคิดว่าไม่ควรเร่งออกกฎหมายเพื่อนำมาใช้ในการควบคุมการชุมนุมหลังจากนี้ เพราะ บริบทของสังคมไทยมีความสำคัญ ถ้ากฎหมาย ไม่เกิดจากการยอมรับซึ่งกันและกันจะยิ่งใช้ไม่ได้ ถ้าจะออกกฎหมายต้องผ่านการถกเถียงจากกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ชุมนุม โดยต้องมาตกผลึกร่วมกันและเป็นกติกาที่สังคมยอมรับเสียก่อน ที่สำคัญมาตรการที่จะออกมาต้องเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองให้เขาใช้สิทธิได้ มากที่สุด นอกจากนั้นรัฐบาลต้องกำหนดเป็นนโยบายให้มีหน่วยงานที่จะดูแลการชุมนุมที่ เป็นมืออาชีพเข้ามา เพราะตำรวจไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเผชิญหน้า

นางสมลักษณ์ หุตานุวัตร ผู้จัดการโครงการ พ.ร.บ. เข้าชื่อภาคประชาชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราขาดนักเจรจามืออาชีพ ดังนั้นสื่อมวลชนน่าจะมีการฝึกฝนให้เป็นนักเจรจามืออาชีพ เพื่อยับยั้งสถานการณ์บางอย่างได้ ตนขอฝากสื่อ 2 ประการ คือ นอกจากเสนอข้อเท็จจริง ต้องเสนอหลักการด้วย ถ้าการชุมนุมเกินเลยหรือมีการสลายเกินเลยสื่อต้องนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องจะ ทำให้ประชาชนเข้าใจอย่างถ่องแท้ความคลางแคลงหมดสิ้นไป ทั้งนี้ขอร้องสื่อในเรื่องการฉายซ้ำเหตุการณ์บนจอโทรทัศน์ต้องมีการระบุเวลา เหตุการณ์ จะทำให้ความตกใจของประชาลดน้อยลง

“หมอพรทิพย์”แจงเหตุไม่ผ่าศพ

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ว่า พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เปิดเผยการผ่าชันสูตรพลิกศพ พลทหาร อภินพ เครือสุข ทหารรับใช้ในบ้านของแม่ทัพภาคที่ 1 หลังเชื่อว่าเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ว่า จากการพูดคุยกับ นางศิริมล มาเพชร มารดาของพลทหาร อภินพ ได้ขอให้ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ และ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมในการผ่าชันสูตรครั้งนี้ด้วย การเจรจาใช้เวลากว่าชั่วโมง ปรากฏว่า ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากญาติของผู้ตาย ต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง มาตรวจสอบตนในการทำหน้าที่ และให้ทางสถาบันเป็นผู้ดำเนินการผ่าศพ แต่ทางสถาบันก็ยืนยันในความโปร่งใส พร้อมอธิบายว่า ถ้าหากมีผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง ทางสถาบันก็จะไม่ดำเนินการให้ ซึ่งญาติก็ไม่ยินยอม ยืนยันจะไม่ให้มีการผ่าศพ จึงได้ยกเลิกผ่าศพไป

ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามระเบียบของกระทรวงยุติธรรม ไม่อนุญาตให้คนอื่นเข้าร่วมในการชันสูตรด้วย เพื่อป้องกันข้อครหาใน ความไม่เป็นกลางและสองมาตรฐาน ส่งผลให้ นางศิริมล ปฏิเสธการชันสูตรในครั้งนี้ และทำเรื่องขอรับศพกลับ

มทภ.1 ยันไม่มีใครทำพลทหาร

พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่ นางศิริมล ยังมีข้อสงสัยการเสียชีวิตของลูกชาย และต้องการให้ชันสูตรพลิกศพใหม่ว่า ตนยินดีให้ดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระบบ ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะได้หายข้อสงสัย ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุคืนวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา มีทหารอยู่ 3 นายที่ดูแลบ้านพักอยู่ ซึ่งจากการสอบถามทุกคนก็ยืนยันว่า พลทหารอภินพลื่นหกล้ม เมื่อเพื่อนเขาถามว่าจะไปหาหมอหรือไม่ พลทหารอภินพก็บอกว่าไม่เป็นไร แค่ปวดหัว จึงไม่ได้นำส่งโรงพยาบาล แล้วพลทหารอภินพก็มาเสียชีวิตในเช้าวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอยากทราบข้อเท็จจริงก็สอบถามเพื่อนของผู้ตายที่อยู่ใน บ้านพักด้วยกันได้

“ยืนยันว่าไม่มีใครไปทำร้ายเขาให้เสีย ชีวิต ใครจะไปทำเช่นนั้น ผมพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่คลี่คลายความสงสัย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมก็เพิ่งเสียลูกชายไปจากอุบัติเหตุ เมื่อ 3 เดือนก่อน เรื่องนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด การสูญเสียลูกเป็นสิ่งที่ลำบาก ผมก็เสียใจและยินดีให้ความร่วมมือกับญาติของผู้เสียชีวิตทุกอย่าง เขาต้องการอะไรก็พร้อมที่จะทำให้ตามใจทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม บ้านพักหลังดังกล่าวอยู่ในช่วงการปรับปรุง ผมยังไม่ได้เข้าไปพักอาศัย และวันเกิดเหตุนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวแล้ว” แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าว

ดีสเตชั่นเล็งยื่นศาลปกครอง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และอดีตผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ดีสเตชั่น ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ระบุว่าหาก ดีสเตชั่นต้องการเปิดอีกครั้ง ต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แม้ว่าจะมีการยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉินไปแล้ว เนื่องจาก ดีสเตชั่นถูกปิดโดยการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ กทช. ว่า ในเรื่องการขอเปิด ดีสเตชั่นนั้น ผู้บริหารของสถานี และฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการระหว่างการยื่นคำร้องต่อ กทช. หรือยื่นร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ออกคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราวการออกอากาศของดีสเตชั่นเช่นเดียวกับเอเอสทีวี

“ดีสเตชั่นและสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมกว่า 100 แห่งที่ออกอากาศขณะนี้ อยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน การที่นำกฎหมายอื่นใดมาเล่นงานดีสเตชั่นเพียงสถานีเดียว ถือเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุด และรัฐบาลทำงานแบบศรีธนญชัย กะล่อนรายวัน เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สถานีที่ถูกปิดไม่ว่าจะเป็นดีสเตชั่นและวิทยุชุมชนก็กลับเข้าสู่สภาพเดิม แต่ นายสาทิตย์กลับอ้างอีกอย่าง ส่วนที่บอกว่าดีสเตชั่นทำการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายนั้น ถ้าอ้างการปลุกระดมสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีจะถูกปิดเป็น 100 ครั้งแล้ว แต่ทำไมยังออกอากาศอยู่ได้ถึงวันนี้ รัฐบาลอธิบายอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น” นายจตุพร กล่าว

อ้าง “ทักษิณ” ได้รับการต้อนรับ

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ทราบว่าทาง ยูเออี หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยืนยันว่าประเทศของเขาเป็นอิสระ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไรในยูเออี ดังนั้น พ.ต.ท. ทักษิณ สามารถเดินทางเข้า-ออกยูเออีได้ตามปกติ แต่ทราบว่าขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ พำนักอยู่ที่ทวีปแอฟริกา โดยผู้นำประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา ได้ติดต่อขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปเป็น พลเมืองกิตติมศักดิ์อีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาล พยายามให้ข่าวว่าต่างประเทศที่ไปชี้แจงไม่ต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปตอนแรกนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง โดยเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทีมทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะดำเนินการต่อไป

สำหรับกรณีญาติของ พลทหารอภินพ เครือสุข ทหารรับใช้แม่ทัพภาคที่ 1 ส่งศพให้ รพ.ศิริราชชันสูตรศพอีกครั้งนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ชีวิตของพลทหารคนหนึ่งก็ควรมีศักดิ์ศรีเทียบเท่า พล.อ.ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่ประกาศตัวรับใช้ชาติ แต่มาประสบชะตากรรมเช่นนี้ก็ควรได้รับการตรวจสอบสาเหตุทุกเรื่องอย่างถึงที่ สุด

“สมเจตน์” เตือนอย่าชะล่าใจ

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช. กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้คงต้องระมัดระวัง เพราะจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ผ่านมา เขายังไม่บรรลุเป้าหมายคือ การนิรโทษกรรมและเอาเงิน 7.8 หมื่นล้านบาทคืน ดังนั้นเขายังต้องดำเนินการทุกอย่าง ซึ่งคงเห็นแล้วว่าเขาทำได้ทุกอย่างไม่ว่าชาติบ้านเมืองจะเสียหายอย่างไร เพื่อให้เขาบรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ การเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินคงไม่มีผลแต่มีผลเพียงเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาทุกอย่างยังอยู่ รัฐบาลต้องระมัดระวัง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ และบริวาร เขาพร้อมทำทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของชาติ

“รัฐบาลต้องให้ความสำคัญการชุมนุม และจัดระเบียบการชุมนุมใหม่ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเช่นอดีต คือ 1.กำหนดพื้นที่การชุมนุม โดยให้มีการชุมนุมทางการเมืองได้เฉพาะ ในบริเวณท้องสนามหลวง 2.จำกัดพื้นที่ด้วยการห้ามเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุม และ 3.เจ้าหน้าที่ต้องตรวจอาวุธผู้ชุมนุมเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้นำอาวุธไปใช้ก่อเหตุร้ายขึ้น ทั้งนี้ การเกิดเหตุร้ายขึ้นกับนายสนธิสังคมคงต้องมาคิดกันว่า ขณะนี้บ้านเมืองเราไม่มีความปลอดภัย เป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ต้องเร่งดำเนินคดีและหาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับสังคมไทย” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว.

No comments:

Post a Comment