Tuesday, June 23, 2009

กกต.เลื่อนเชือด44ส.ส.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ

คมชัดลึก :“เพื่อไทย”โวยกกต.ไม่ให้ชี้แจงกรณีส.ส.ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจเป็นคู่สัญญากับรัฐ ให้ฝ่ายกม.ทำหนังสือถึงกกต.เลื่อนชี้แจงอีก 15 วัน เหน็บ สงสัยลูก-เมียส.ส.ทำงานรัฐวิสาหกิจไม่ได้ 8 ส.ส.พท.ได้รับหนังสือแต่อดชี้แจง ล่าสุดกกต.สั่งเลื่อนตามที่เสนอแล้ว



เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 23 มิ.ย. นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยถือหุ้นในบริษัทรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัญญากับรัฐว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยมีการประชุมฝ่ายกฎหมายของพรรค โดยมีส.ส.ของพรรคประมาณ 5 - 6 คนที่ได้รับหนังสือจากกกต.ให้ไปชี้แจงมาร่วมประชุมด้วย โดยที่ประชุมได้พูดถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ และได้ทราบจากนายไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทยด้วยว่า ในวันนี้( 23 มิ.ย.)ได้ไปชี้แจงต่อกกต.แล้ว แต่ได้รับแจ้งจากกกต.ว่า จะมีการสรุปเรื่องภายในวันนี้แล้วจึงไม่อนุญาตให้มีการชี้แจงอีก ดังนั้นพรรคจึงมีมติว่า ให้พรรคตั้งตัวแทนของพรรคส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและชี้แจงถึงความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้น

นายสุนัย กล่าวอีกว่า หนังสือของกกต.ลงวันที่ 15 มิ.ย.ซึ่งส่งมาถึงพรรคเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าให้ไปชี้แจงภายใน 7 วัน ซึ่งวันนี้( 23 มิ.ย.)ถือว่ายังไม่ครบกำหนด 7 วันแต่กลับไม่สามารถที่จะชี้แจงได้ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นจึงให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคทำหนังสือถึงกตต.เพื่อขอเลื่อนเวลาในการชี้แจงออกไปอีก 15 วัน เพราะข้อเท็จจริงในบางรายการนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาในการค้นหาข้อมูล เนื่องจากในบางท่านเป็นข้อมูลเมื่อ 10 ปีก่อน

“รัฐธรรมนูญ 2550 มีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะมาตรา 43 กับมาตรา 265 ที่มีความขัดแย้งกัน กรณีของการถือหุ้นในบริษัทรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัญญากับรัฐนั้น ผมเป็นคนที่ไม่เคยซื้อหุ้น ไม่เคยเล่นหุ้น แต่ภรรยาผมทำงานในบริษัทของรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ และบริษัทนั้นต้องการให้พนักงานถือหุ้นของบริษัทเพื่อที่จะได้เกิดความรักในบริษัท ซึ่งเป็นไปตามสิทธิของรัฐธรรมนูญมาตรา 43 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ หรือว่าลูกเมียของส.ส.ทำงานในรัฐวิสาหกิจไม่ได้ เราไม่ติดใจ ถ้าจะผิดก็ผิด เพียงแต่เราต้องออกมาพูในข้อเท็จจริงต่อสังคมให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการส่งให้ศาล ” นายสุนัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ได้รับหนังสือจากกกต.แล้ว เพื่อให้ไปชี้แจงกรณีการถือหุ้นในบริษัทรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัญญากับรัฐนั้นประกอบด้วย 1. นายสุนัย 2. นายไพโรจน์ 3.พล.ต.อ. วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.สัดส่วน 4. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. 5. นายอิทธิเดช แก้วหลวง ส.ส.เชียงราย 6. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ 7. นายสมพล เกยุราพันธ์ ส.ส.สัดส่วน และ 8. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น ส่วนรายชื่อส.ส.พรรคเพื่อไทยอีกส่วนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าถือหุ้นในบริษัทรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ แต่ไม่ได้รับหนังสือเรียกให้ไปชี้แจงกับกกต.นั้น เนื่องจากส.ส.ดังกล่าวได้ไปชี้แจงกับกกต.มาก่อนหน้านี้แล้ว

กกต.เลื่อนเชือด44ส.ส.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงว่า ที่ประชุม กกต.วันนี้(23มิ.ย.) ได้พิจารณารายงานการสอบสวนของคณะอนุกรรมการกรณีนาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ขอให้ กกต.ตรวจสอบการสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ ส.ส.จำนวน 61 คน เนื่องจากถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และถือครองหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ หรือมีลักษณะผูกขาดตัดตอนขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 โดยมีมติตามที่อนุกรรมการเสนอยุติการสอบสวนในส่วนอดีต ส.ส.ที่ถูกร้อง 17 คน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งจากเหตุยุบพรรคและมีการขอลาออกจากตำแหน่ง

นายสุทธิพล กล่าวว่า ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปแล้วประกอบด้วย 1 นาย บรรหาร ศิลปอาชา 2 น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา 3 นาย เสมอกัน เที่ยงธรรม 4 นาย สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ 5 นายก มล จิระพันธุ์วาณิช 6 นาย วีรพล อดิเรกสาร 7 นาย สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 8 นาย อิทธิ ศิริลัทธยากร 9 นาย ทรงศักดิ์ ทองศรี 10 นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ 11 ร.ท. กุเทพ ใสกระจ่าง ผู้ที่ลาออกจากการเป็น ส.ส.ไปแล้วประกอบด้วย 1 นาย สุขุมพงศ์ โง่นคำ 2 นาย สุธา ชันแสง 3 นาย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 4 พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร และ 5 .นาย พงศกร อรรณนพพร ส่วนผู้ที่ไม่เคยเป็น ส.ส.คือ นางอุไรวรรณเทียนทอง

นาย สุทธิพล กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ถูกร้องที่เหลืออีก 44 คน นั้น มีจำนวน 6 คนเป็นรัฐมนตรี กกต.มีมติขยายเวลาการสอบสวน ให้อนุกรรมการฯอีก 15 วัน เพื่อให้ไปสอบสวน หาข้อมูลเพิ่มเติมจากการรายงานบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของผู้ถูกร้องกับป.ป.ช. ตรวจสอบวัตถุประสงค์การก่อตั้งของบริษัทที่ผู้ถูกร้องเข้าไปถือหุ้น จากกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ และขอข้อมูลจากบริษัทที่ถูกระบุว่า ผู้ถูกร้องเข้าไปถือหุ้นอีก 72 บริษัทที่อนุกรรมการฯยังไม่ได้รับคำตอบ เพราะตามรายงานระบุว่า อนุกรรมการฯได้มีหนังสือสอบถามข้อมูลไปยังบริษัทที่ถูกระบุว่าผู้ถูกร้องถือหุ้นอยู่ 306 บริษัท โดย ณ วันที่ 8 มิ.ย. ได้รับหนังสือชี้แจงมาเพียง 234 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้อนุกรรมการฯเห็นว่า ประกอบธุรกิจที่เข้าลักษณะต้องห้ามส.ส.และส.ว.เข้าไปถือครอบหุ้น 28 บริษัท แต่มีบางบริษัทที่ซ้ำกับบริษัทที่ได้มีการพิจารณาไปแล้ว 14 บริษัทจากการถือครองหุ้นของ ส.ว.

เลขา กกต.กล่าวว่า รวมทั้งให้อนุกรรมการฯ ให้โอกาสกับผู้ถูกร้องมาชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องจากในจำนวนส.ส. 44 คน ได้มาชี้เพียง 12 คน และให้อนุกรรมการฯไปตรวจสอบว่ารายชื่อผู้ถูกร้องที่ดำเนินการอยู่มีความซ้ำซ้อนกับรายชื่อส.ส.ที่อนุกรรมการสอบกรณีที่นาย ศุภชัย ใจสมุทร ยื่นร้องเข้ามา อีก 28 คนหรือไม่ และมีคำซ้ำซ้อนกับรายชื่อกับของที่นายเรืองไกร ร้องนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และภรรยาหรือไม่ นอกจากนี้ให้ไปตรวจสอบว่าบริษัทที่อนุกรรมการฯมีมติว่าอาจเข้าข่ายต้องห้ามหถือครองหุ้น มีความสอดคล้องกับที่กกต.มีมติห้ามส.ว.เข้าไปถือครองหุ้นใน 14 บริษัทหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าหากมีกาวินิจฉัยไปโดยไม่ตรวจสอบว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ก็อาจกลายเป็นว่ากกต. 2 มาตรฐานได้

นายสุทธิพล กล่าวว่า การที่ให้อนุกรรมการฯไปสอบเพิ่มเติม ไม่ได้เป็นเพราะกกต.จะรอผลการสอบสวนของอนุกรรมการฯชุดที่กำลังสอบนายกษิต และชุดที่สอบ 28 ส.ส.ที่นายศุภชัย ร้อง แม้ว่าคณะอนุกรรมการฯดังกล่าวสอบสวนเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการทำรายงานเสนอต่อประธาน กกต.ก็ตาม ซึ่งถ้าวันนี้อนุกรรมการสอบได้ข้อมูลครบถ้วนกกต.ก็สามารถวินิจฉัยได้ทันที รวมทั้งที่ยังไม่ได้วินิจฉัยก็ไม่ได้กลัวการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง

“ที่บอกว่ากกต.มีวาระซ้อนเร้น มีเจตนาจะกลั่นแกล้ง ยืนยันว่าจุดเริ่มเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่กกต.เราไม่ได้ไปขุดว่าคนนั้นคนนี้ถือหุ้นขัดมาตรา 48 และ 265 แต่มีผู้ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญยื่นให้กกต.ตรวจสอบ เราไม่ได้จงใจต้องการไปดิสเครดิตใคร และจะเห็นว่าผู้ที่ถูกร้องเป็นส.ส.จากหลายพรรค ส.ว.ก็มีทั้งส.ว.สรรหาและส.ว.เลือกตั้ง เมื่อมีการร้องกกต.ก็ต้องพิจารณา โดยเห็นว่ามาตรา 265 เขียนไว้อย่างเคร่งครัดถ้อยคำชัดเจน ซึ่งก็ต้องเป็นไปอย่างที่กกต.เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าคนที่จะวางหลักได้ดีที่สุดก็จะเป็นรัฐธรรมนูญ แล้วกกต.ไม่ได้วางหลักเกณฑ์เอง ” นายสุทธิพล กล่าว

สำหรับ 44 ส.ส. และ รมต. ประกอบด้วย ในส่วนของพรรคเพื่อไทยจำนวน 23 คน ประกอบด้วย 1. นาย สุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน 2 .นาย สมพล เกยุราพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน 3 .พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส. นนทบุรี พรรคเพื่อไทย 4 .นาย อดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 5 . นาง ปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ 6 . นาย เอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์ 7 . นาย ไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา 8 .นาย นิทัศน์ ศรีนนท์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย 9 .นาย ปวีณ แซ่จึง ส.ส.ศรีษะเกษ 10. นาย อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.ลำปาง

11. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ 12. น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ 13. นายอิทธิเดช แก้วหลวง ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย 14. นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย 15. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น 16. นางดวงแข อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น 17. นายภูมิ สาระผล ส.ส.ขอนแก่น 18. พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย 19. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส. กทม. 20. น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ส.ส.สัดส่วน 21. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน 22. นายอัสนี เชิดชัย ส.ส.สัดส่วน 23. พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ส.ส.สัดส่วน

สำหรับ ส.ส. ในส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดิน จำนวน 8 คน ประกอบด้วย 1. นาง มลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ 2 .นาย สาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ ส.ส.สุรินทร์ 3. นาย วัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน 4 .พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก ส.ส.สัดส่วน 5 . ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันตร์) ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน 6 .นาย ประนอม โพธิ์คำ ส.ส.นครราชสีมา 7. นาย สมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน และ 8 .นาย อนุวัฒน์ วิเศษจินดาวัฒน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อแผ่นดิน

ส.ส. ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 2 คน ประกอบด้วย 1 .พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.พิจิตร รองนายกรัฐมนตรี 2 . นาย อัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน และ นาย เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส.

ส.ส. ในส่วนของพรรคประชาราช จำนวน 3 คนประกอบด้วย 1 .น.ส. ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว 2 .นาย สมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ และ 3 .นาย เสนาะ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว

ส.ส. พรรคภูมิใจไทย 3 คน ประกอบด้วย 1 . นาย บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา รมช.มหาดไทย 2. นาย มานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย รมช.สาธารณสุข และ 3 นาย ชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วน และประธานรัฐสภา

ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน คือนาย ไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ รมว.แรงงาน ส.ส. พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 2 คน 1 . นาย วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.นครราชสีมา รมว.กระทรวงพลังงาน และ 2 .นาย สมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ส.ส.นครราชสีมา และ ส.ส. พรรคกิจสังคม 1 คน คือ นาย มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ส.ส.พิษณุโลก

นาย สุทธิพล ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้กกต.ยังมติขยายเวลาให้อนุกรรมการสอบสวน กรณีนายเรืองไกร ร้องขอให้สอบสวนการกระทำอันเป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพการเป็นส.ส.และรัฐมนตรีของนาย วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.เพื่อไทย กรณีปกปิดการยื่นแสดงบัญชีหนีสินและทรัพย์สินในการเข้าดำรงตำแหน่งส.ส.และการพ้นจากตำแหน่งรมว.วัฒนธรรม โดยให้ขยายออกไปอีก 15 วันนับแต่วันที่ 21 มิ.ย.ถึง 5 ก.ค.น

"ชวรัตน์"รับเริ่มกังวลกกต.สอบส.ส.ถือหุ้น

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ( ภท. ) กล่าวถึงการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) เรื่องงการขาดคุณสมบัติของส.ส.กรณีถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ว่า ตนยอมรับว่ามีความกังวลกับมติของกกต. ส่วนจะกระทบเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่นั้น ถ้ามีการตีความว่าส.ส.บางส่วนขาดคุณสมบัติ อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพบ้าง แต่คงไม่มาก เพราะเชื่อว่าเสียงของรัฐบาลยังมีจำนวนมาก ทั้งนี้ ในช่วงตอนโหวตลงคะแนน ส.ส.คงเข้าห้องน้ำไม่ได้

“เทพไท”ชี้ปชป.พร้อมสู้คดี ส.ส.ถือหุ้น ย้ำไม่แทรกแซง กกต.

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า พรรคกำลังรอผลการสรุปชี้มูลจาก กกต.ว่า จะมีส.ส.คนใดของพรรคบ้างที่ถูกชี้มูลและมีจำนวนมากเท่าไหร่ เพื่อเตรียมรับมือกับการสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยในการประชุมส.ส.พรรคในวันพุธที่ 24 มิ.ย.จะนำเรื่องดังกล่าวหารือด้วย เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนกระทบต่อสมาชิกภาพ ส.ส.มากถึง 28 คน และเป็นหน้าที่ของที่ประชุม ส.ส.พรรคต้องร่วมหาทางต่อสู้

นายกรับมนตรีเอง ไม่ได้รู้สึกกังวลและปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกฏหมาย ส.ส.คนใดถูกโทษต้องถอดถอนสมาชิกภาพก็กลับไปเลือกตั้งใหม่ ส.ส.ในระบบสัดส่วนที่ถูกถอดถอนก็เลื่อนคนต่อไปขึ้นมาแทน คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน และอยู่ในช่วงการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ ไม่สามารถที่จะยื่นญัติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ จึงไม่เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแน่นอน

เปิดรับตร.หญิงปราบจลาจลเพิ่มรับมือม็อบ

พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รอง ผบช.น. เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับสมัครสอบแข่งขั้นบุคคลภายนอก เพศชาย อายุ 18-35 ปี หรือ คุณวุฒิทางสังคมศาสตร์หรือตามที่ ก.ตร.กำหนดขึ้นไปวุฒิปริญญาตรี นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประสานศนศาสตร์ หรือเรียนกฎหมาย 3 วิชา คือ ป.อาญา ,ป.วิอาญา และกฎหมายลักษณะพยาน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน พ.ศ.2552 จำนวน 4,000 อัตรา แยกเป็นกลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม จำนวน 3,200 อัตรา และกลุ่มงานอำนวยการและสนับสนุน จำนวน 800 อัตรา

นอกจากนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลยังเปิดรับสมัครบุคคลภายนอก สอบแข่งขันรับราชการตำรวจ โดยมีการรับสมัครสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเพศหญิง อายุ 18-23 ปี ส่วนสูง 165 ซม. ขึ้นไป วุฒิปริญญาตรี นิติศาสตร์ ,รัฐศาสตร์ และรัฐประสานศนศาสตร์ หรือ กฎหมาย 3 วิชา คือ ป.อาญา ,ป.วิอาญา และกฎหมายลักษณะพยาน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ ทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนและอารักขารักษาความปลอดภัย จำนวน 150 อัตรา สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล

พล.ต.ต.สุพร กล่าวต่อว่า ในส่วนของ บช.น.นั้น กองบัญชาการศึกษาจะทำหน้าที่รับสมัครสอบคัดเลือก โดยจะมีตัวแทนจาก บช.น. เข้าร่วม เมื่อผ่านการสอบคัดเลือกและผ่านการฝึกแล้วสังกัด บช.น. จะมีการฝึกยุทธวิธีเพิ่มเติม และจะมีการทดแทน ปจ.หญิง ที่มีอยู่ และถือเป็นกรณีเร่งด่วนด้วย และในอนาคต จะมีการปรับเป็น กองร้อย ปจ. หญิงโดยเฉพาะในแต่ละกองบังคับการ

No comments:

Post a Comment